วันนี้( 1 ก.พ.2562) นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณามาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 จากยานพาหนะในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล โดยกรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานจากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยและสถาบันการศึกษา ซึ่งที่ประชุมได้มีความเห็นร่วมกันในการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 จากยานพาหนะ โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
ระยะเร่งด่วน
- มาตรการห้ามรถยนต์ที่มีมลพิษสูงวิ่งเข้าพื้นที่กรุงเทพชั้นกลางและชั้นนอก
- มาตรการเร่งรัดให้นำน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำกว่า 10 พีพีเอ็ม (เทียบเท่า ยูโร 5) มาจำหน่ายในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล
- ให้หน่วยงานภาครัฐ พิจารณาการทำงานที่บ้านและขอความร่วมมือจากบริษัทเอกชนให้ทำงานที่บ้านเช่นเดียวกัน
- เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี
- เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจวัดควันดำจากรถยนต์และการบังคับใช้คำสั่งห้ามใช้
มาตรการระยะกลางและระยะยาว
- ปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm (เทียบเท่ามาตรฐาน ยูโร 5)
- ปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ยูโร 6
- ปรับปรุงค่ามาตรฐาน PM2.5 เฉลี่ยรายปีให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของ WHO Interim target-3…
- เร่งรัดแผนการเปลี่ยนรถโดยสาร ขสมก. ให้เป็นรถยนต์ที่มีมลพิษต่ำ
- ปรับปรุงวิธีการและ ระยะเวลาการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี
- ควบคุมการนำเครื่องยนต์ใช้แล้วมาเปลี่ยนแทนเครื่องยนต์เก่าในรถยนต์
- ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในการติดตั้ง Diesel Particulate Filter ในรถยนต์ใช้งาน
ทั้งนี้ มาตรการทั้งหมดนี้จะต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในวันที่ 4 ก.พ.นี้ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
ภาพ:กรมควบคุมมลพิษ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ทำงานที่บ้าน" ลดแรงค้านแนวคิดนายกรัฐมนตรีแก้ฝุ่น
"คมนาคม"สั่งชะลอก่อสร้างรถไฟฟ้าถึง 15 ก.พ.นี้ ช่วยลดฝุ่น