ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“มอแกน” หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นใคร

สังคม
5 ก.พ. 62
11:04
31,551
Logo Thai PBS
“มอแกน” หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นใคร
ชาวเล หรือ ชาวมอแกน เป็นหนึ่งในชาวน้ำที่อาศัยอยู่บนหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา นานนับร้อยปี พวกเขามีวิถีพึ่งธรรมชาติ จับปลาในทะเลเพื่อยังชีพ และมีความเชี่ยวชาญในการเดินเรือ และดูทิศทางโดยอาศัยดวงดาว

เหตุการณ์ไฟไหม้บ้านชาวมอแกน 61 หลังคาเรือนจาก 81 หลังคาเรือน ถือเป็นฝันร้ายของชาวมอแกนอีกครั้ง นับจากพวกเขาเคยประสบกับสิมานามิถล่มเมื่อปี 2547 แม้ว่าชาวเลกลุ่มนี้จะเป็นที่รู้จักในกลุ่มท่องเที่ยวที่ไปเยือนเกาะสุรินทร์ แต่วิถีความเป็นตัวตนของมอแกน ยังไม่ถูกกล่าวถึง

ข้อมูลจากสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช ระบุว่า เผ่ามอแกน (Mogan) หมู่เกาะสุรินทร์ หรือหมู่บ้านชาวเล หรือ ชาวมอแกน เป็นหมู่บ้านชาวเลดั้งเดิมที่อาศัย ตั้งบ้านเรืออยู่บริเวณอ่าวบอนใหญ่ เกาะสุรินทร์ใต้ ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา ปัจจุบันมีประชากร 375 คน บ้านเรือน 81 หลัง

มอแกน ปัจจุบันมีบางคนสามารถพูดภาษายาวีและภาษาไทยได้บ้าง เด็กมอแกนคุ้นเคยกับทะเลตั้งแต่ยังเด็ก บางคนว่ายน้ำได้พร้อมๆ กับที่เดินได้ พ่อแม่จะปล่อยให้เด็กเล็กๆ พายเรือเล็กเล่นโดยลำพังโดยไม่ต้องมีใครดูแล

 

 

วิถีชีวิต-ฤดูกาล ชาวมอแกน

ชาวเลมอแกนเป็นชนเผ่าที่มีวิถีการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม หาเลี้ยงชีพโดยการงมหอย แทงปลา โดยในช่วงฤดูมรสุมระหว่างเดือน พ.ค.-พ.ย. มอแกนจะอาศัยอยู่บนเรือที่เปรียบเสมือนบ้าน แต่พอถึงช่วงระหว่างเดือน ธ.ค.-เม.ย. จะเปลี่ยนที่อยู่มาอาศัยอยู่บนบกที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์

ข้อมูลหนังสือ “วิถีชีวิตมอแกน…” เขียนโดย ดร.นฤมล อรุโณทัย จากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับพลาเดช ณ ป้อมเพชร อรุณ แถวจัตุรัส ฟาเทอร์ และจีระวรรณ์ บรรเทาทุกข์ ภายใต้โครงการนาร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในแต่ละวันมอแกนจะอาบน้ำจากแหล่งน้ำจืดและนำแกลลอนเปล่ามาตักน้ำในตอนเช้าเป็นประจำทุกวันน้ำจืดเป็นสิ่งที่ใช้หุงหาอาหารและดื่มในแต่ละครอบครัว ข้าวเป็น
แหล่งคาร์โบไฮเดรตที่สำคัญประจำวันของชาวมอแกน ในปัจจุบันนี้การหุงข้าวเป็นแบบเช็ดน้ำ ส่วนมันและกลอยเป็นอาหารว่างทั้งของเด็กและผู้ใหญ่

มอแกนมักจะกินข้าววันละ 2 มื้อ แต่ละมื้อมีเวลาไม่แน่นอนขึ้นอยู่ กับอาหารที่มีอยู่ เครื่องปรุงหลักคือพริกแห้ง เกลือ กะปิ หัวหอม ตะไคร้

อาหารที่กินในมื้อเช้าโดยมากจะไม่เหลือมาถึงมื้อเย็น ซึ่งตกเวลาเย็นจะออกไปหาใหม่อีกก่อนพลบค้ำมอแกนจะอาบน้ำอีกครั้งหนึ่ง

 

ภาพ : Paskorn Jumlongrach

ภาพ : Paskorn Jumlongrach

ภาพ : Paskorn Jumlongrach

 

มอแกนมีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับทะเลมาเป็นเวลาหลายร้อยปี จึงมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเดินเรือการดูทิศทางโดยอาศัยดวงดาว ลม และคลื่น รวมทั้งการว่ายดำน้ำและการทำมาหากินทางทะเล และยังมีความรู้เกี่ยวกับป่าและพืชพรรณไม้ที่หลากหลายในป่า

ความเชื่อ-พิธีกรรม ของมอแกน

มอแกนมีพิธีประจำปีที่สำคัญ คือ การฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษ (เหน่เอนหล่อโบง) จัดขึ้นในเดือนห้าทางจันทรคติ ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูกาล มอแกนจากที่ต่างๆ จะมารวมกันเพื่อเซ่นสรวงบูชาวิญญาณให้ปกป้องคุ้มครองพวกตน ในระหว่างพิธีนี้มอแกนจะหยุดพักการทำมาหากินและการออกทะเลไปไกลๆ เพื่อทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในงานฉลองพิธีจะประกอบไปด้วยการเข้าทรง เสี่ยงทายเซ่นไหว้วิญญาณ

การเล่นดนตรีและร้องรำทำเพลง บางครั้งมีการลอยก่าบางจำลอง ซึ่งถือว่าเป็นการลอยความทุกข์และโรคภัยไข้เจ็บให้พ้นจากครอบครัวและชุมชน เหล้าขาวเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของพิธีเพราะเป็นเครื่องเซ่นไหว้วิญญาณ

มอแกนส่วนใหญ่จะดื่มเหล้าขาวกันอย่างหนักตลอดช่วงเวลาการฉลอง ส่วนในช่วงเวลาปกตินั้นมอแกนนิยมดื่มเหล้าขาวเพื่อที่จะดำน้ำได้ลึกและอึดผู้ชาย

มอแกนหลายคนติดเหล้าและสารเสพติดอื่นๆ โดยมีความเชื่อว่าสารเหล่านี้เมื่อเสพเข้าไปและทำให้ทนทาน สู้งานหนักได้และช่วยบำบัดอาการอ่อนเพลียเมื่อยล้า

มอแกนยังรักษาความเชื่อดั้งเดิม ซึ่งเน้นวิญญาณนิยม (animism) คือ เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งรวมถึงวิญญาณบรรพบุรุษและวิญญาณต่างๆในธรรมชาติมีอำนาจในการให้ร้ายให้ดีปกป้องคุ้มครองหรือทำให้เจ็บป่วยได้ดังนั้นการเจ็บป่วยหนักๆ จะแก้ไขเยียวยาได้โดยการให้โต๊ะหมอ หรือ "ออลางปูตี" มาเข้าทรงและเซ่นไหว้ด้วยวิธีต่างๆ

ชาวมอแกนใช้ความรู้ทางพืชสมุนไพรในการรักษาโรค แต่ค่อยๆ สูญหายไปกับคนรุ่นเก่าแก่ และมีการสืบทอดความรู้เหล่านี้น้อยลงทุกที

 

ภาพ : Paskorn Jumlongrach

ภาพ : Paskorn Jumlongrach

ภาพ : Paskorn Jumlongrach

 

เรือของชาวมอแกนแบบดั้งเดิมมี 2 แบบ คือ 1. เป็นเรือขนาดใหญ่ สร้างขึ้นจากไม้ประมาณ 3-4 ต้น ใช้เวลาสร้างประมาณ 60 วัน ใช้แรงงานคนประมาณ 20 คน

แบบที่ 2 เป็นเรือขนาดเล็ก ใช้ไม้เนื้ออ่อนเจาะด้วยขวาน ใช้เวลาสร้างประมาณ 5 วัน ใช้แรงงานคนประมาณ 3 คน โดยวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบเรือทั้ง 2 ประเภท จะใช้วัสดุและอุปกรณ์เช่นเดียวกัน คือ ไม้ขนุนปานหรือไม้ระกำ ขวาน ใช้สลักไม้แทนตะปู ใช้หวาย ใบเตย หรือใบค้อ กระสอบป่านแทนหมันและน้ำมันยาง

 

 

"มอแกน" มีที่ไหนอีกบ้าง

ไม่เพียงมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์เท่านั้น หมู่เกาะมะริดในเมียนมายังมีประชากรมอแกนอีกหลายพันคน เมียนมาเรียก มอแกน ว่า ซลัง เซลัง หรือ ซาโล่ว์ โดยสันนิษฐานว่า คำนี้มาจากคำว่าฉลาง หรือ ถลาง ซึ่งเป็นชื่อโบราณของภูเก็ต ซึ่งเป็นบริเวณที่มีชาวเลมาชุมนุมกันอยู่มากในสมัยก่อน

ชาวเลเป็น 1 ใน 56 กลุ่ม ชาติพันธุ์ของไทย อาศัยอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดทะเลอันดามัน ระนอง กระบี่ พังงา ภูเก็ต สตูล ด้วยความแตกต่างด้านภาษา พีธีกรรม และลักษณะเรือดังเดิมที่ใช้ ทำให้มีการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. มอแกน 2.มอแกน 3. อูรักลาโว้ย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

รวมน้ำใจช่วยชาวมอแกน

10 เรื่อง ที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับ "มอแกน"

ผู้ว่าฯพังงา ตั้งงบช่วยชาวมอแกน ครอบครัวละ 3 หมื่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง