ข้อมูลจากหนังสือวิถีชีวิตมอแกน ของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สำนักงานที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรมภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ยูเนสโก โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับวิถีชีวิตมอแกน เพื่อนำเสนอความเป็นมาของชาวมอแกนว่าเป็นใคร มาจากไหน และมีความเป็นอยู่อย่างไร
1.ต้นตระกูลของมอแกนมาจากไหน ?
จากตระกูลภาษาออสโตรนีเชียนที่มอแกนใช้ และจากการสืบสาวประวัติศาสตร์ และเรื่องราวเกี่ยวกับชนเผ่านักเดินทางทางทะเลในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดกันว่ามอแกนคงจะสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มโปรโตมาเลย์ (Proto Malay) ซึ่งเป็นกลุ่มแรกๆ ที่อพยพลงมาอยู่แถบคาบสมุทรมลายู
ต่อมาคนกลุ่มนี้หันมาใช้ชีวิตทางทะเล ทำมาหากินตามหมู่เกาะและชายฝั่ง ครอบคลุมอาณาบริเวณตั้งแต่หมู่เกาะมะริดในพม่า ลงไปทางใต้และตะวันออกจนถึงหมู่เกาะในทะเลซูลู ประเทศฟิลิปปินส์ รวมถึงเกาะและชายฝั่งในมาเลเซียและอินโดนีเซียด้วย แต่ปัจจุบันเนื่องจากคนกลุ่มนี้ก็แยกย้ายกระจัดกระจายกันไป มีพัฒนาการของสังคมวัฒนธรรมและภาษาต่างกันออกไปจนแยกเป็นกลุ่มย่อยๆ หลายกลุ่ม
มอแกนกับซาไก (อันที่จริงควรเรียกว่า “มันนิ” ซึ่งเป็นชื่อที่เขาเรียกตัวเอง) ไม่ได้เป็นญาติกัน ลักษณะทางกายภาพก็ต่างกัน โดยมันนิเป็นกลุ่มเนกริโต ในขณะที่มอแกนเป็นกลุ่มโปรโตมาเลย์ ภาษาก็ต่างกัน มันนิพูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก ซึ่งเป็นภาษากลุ่มมอญ เขมร มันนิเองก็มีกลุ่มย่อยๆ ที่มีภาษาถิ่นต่างกันออกไปอีก
มันนิส่วนหนึ่งพูดภาษามลายูได้ และมอแกนหลายคนก็พูดภาษามลายูได้ ดังนั้น มอแกนกับมันนิสื่อสารกันได้ด้วยภาษากลาง เช่น ภาษามลายูหรือภาษาไทย แต่ถ้าให้เจรจากันด้วยภาษาของตัวเองแล้ว ก็ฟังกันไม่รู้เรื่อง ต้องใช้ภาษาท่าทางประกอบ ทั้งนี้ มอแกนไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากชนพื้นเมืองของหมู่เกาะนิโคบาร์-อันดามันในประเทศอินเดีย ชนพื้นเมืองที่นั่นก็มีหลายกลุ่ม แต่ส่วนใหญ่เป็นเนกริโต
2. ชาวเลในเมืองไทยมีกี่กลุ่ม ?
ชาวเลในเมืองไทยมี 3 กลุ่ม ได้แก่
- มอแกน
- มอแกลน (ซึ่งมอแกนเรียกว่า“ออลาง ตามับ”)
- อูรักลาโว้ย
มอแกนและมอแกลนมีภาษาใกล้เคียงกันมาก ส่วนภาษาอูรักลาโว้ยนั้น แม้จะเป็นภาษาตระกูลออสโตรนีเชียนเหมือนกัน แต่ก็พูดกับมอแกนและมอแกลนไม่รู้เรื่อง เพราะมีศัพท์และสำเนียงต่างกัน อูรักลาโว้ยและมอแกลนตั้งหลักแหล่งค่อนข้างถาวร และมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปค่อนข้างมาก และมักถูกเรียกขาน (รวมทั้งเรียกตนเองด้วย) ว่า “ไทยใหม่”
3. มอแกนแปลว่าอะไร ?
นักมานุษยวิทยา Jacques Ivanoff สันนิษฐานว่าชื่อมอแกนเป็นคำที่ย่อมาจากคำว่า “ละมอ” (ภาษามอแกน แปลว่า จม) และ “แกน” ซึ่งเป็นชื่อของน้องสาวของราชินีในตำนานเก่าแก่ของมอแกน ซึ่งเล่าขานต่อกันมาว่าน้องสาวของราชินีได้แย่งคนรักของพี่สาว จึงถูกสาปแช่งให้ตนเองและพรรคพวกต้องมีชีวิตเร่ร่อนอยู่ในทะเล
4. มอแกนนับถือศาสนาอะไร ?
มอแกนนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และวิญญาณต่างๆ ในธรรมชาติ รวมทั้งวิญญาณบรรพบุรุษที่มี “หล่อโบง” หรือเสาวิญญาณบรรพบุรุษ ทั้งชาย (แอบ๊าบ) และหญิง (เอบูม) เป็นสัญลักษณ์ มอแกนมีพิธีฉลองที่สำคัญประจำปีคือพิธี “เหน่เอ็นหล่อโบง” หรือการฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งบางทีในพิธีนี้ก็มีการลอยเรือสะเดาะเคราะห์คล้ายๆ กับ อูรักลาโว้ยที่ภูเก็ต ลันตา หรือหลีเป๊ะ ในขณะที่อูรักลาโว้ยเรียกเรือสะเดาะเคราะห์ว่า “เปอลาจั๊ก” ชาวเลมอแกนเรียกเรือนี้ว่า “ก่าบางชวาย” การลอยเรือมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกัน คือเพื่อนำเอาเคราะห์ร้าย โรคภัยไข้เจ็บ ความทุกข์โศกต่างๆ ออกไปจากชุมชน
ส่วนพิธีฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษของมอแกนนั้น จัดขึ้นในวันข้างขึ้น เดือนห้าทางจันทรคติ มอแกนจะไม่ออกไปทำมาหากินเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน ในช่วงนั้น จะมีงานฉลอง ที่มีการดื่มกิน การเล่นดนตรีร่ายรำ การเข้าทรงทำนายโชคชะตาของหมู่บ้าน และมีญาติพี่น้องจากเกาะต่างๆ มาพบปะสังสรรค์กัน
5. เรือไม้ระกาของชาวมอแกน ?
เรือมอแกนที่เห็นกันอยู่ไม่ใช่เรือไม้ระกาที่มีลักษณะเป็นท่อนเล็กเรียวแบบต้นอ้อย สมัยนี้มอแกนใช้ไม้กระดานทำเรือ โดยเรือจากไม้ระกาเหลือเพียงไม่กี่ลำในพม่า มอแกนส่วนใหญ่เลิกใช้ไม้ระกาเสริมกราบเรือ เนื่องจากไม้ระกามีอายุใช้งานเพียง 3-6 เดือนเท่านั้น
ชาวมอแกนหันมาใช้ไม้กระดานเนื่องจากมีความคงทน ใช้ได้นานหลายปี ส่วนมากเรือนั้นใช้ได้นานหลายสิบปี และบางทียังสืบทอดมาถึงรุ่นลูกหลานด้วย หลังจากที่มอแกนหันมาใช้ไม้กระดาน ใบเรือก็หมดประโยชน์ใช้สอยไปด้วย เนื่องจากเรือไม้กระดานมีน้ำหนักมาก ต้องขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์
6.อาหารหลักของชาวมอแกนคืออะไร ?
ในสมัยก่อนอาหารหลักของมอแกน คือ หัวมัน หัวกลอย พืชผัก ยอดไม้ ผลไม้ป่า ปลา ปู หอยชนิดต่างๆ ข้าวถือว่าเป็นอาหารพิเศษที่หาได้ยาก ต่อมาเมื่อมอแกนถูกดึงเข้ามาในระบบค้าขายแลกเปลี่ยน ข้าวจึงกลายเป็นอาหารหลัก และยังเป็นเครื่องประกันความอิ่มท้องเพราะเก็บรักษาได้นานไม่เหมือนอาหารสดอื่นๆ ที่เน่าเสียได้ง่าย
มอแกนขายเปลือกหอยและสัตว์ทะเลเพื่อซื้อข้าวสารตุนเอาไว้เป็นกระสอบ โดยเฉพาะในช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่การออกทะเลค่อนข้างยากลำบาก ขณะที่การประกอบอาหารของชาวมอแกนมักจะต้ม ย่าง ทอด หรือผัด ถ้ามีเครื่องปรุง เช่น พริก หอม กระเทียม ตะไคร้ น้ำปลา น้ำตาล ก็จะใส่ลงไปให้รสชาติเข้มข้นซึ่ง “ช่อบาย” หรือกับข้าวของมอแกนมักจะมีรสเผ็ดเป็นหลัก ส่วนสมัยนี้มอแกนหันมาติดใจอาหารอย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมถุง และน้ำอัดลมกระป๋อง
7.ชาวมอแกนอยู่ที่ไหนบ้าง ?
นอกจากหมู่เกาะสุรินทร์ ประเทศไทยแล้ว ในหมู่เกาะมะริดในพม่ายังมีประชากรมอแกนอีกนับพัน พม่าเรียกมอแกนว่า ซลัง เซลัง หรือ ซาโล่ว์ (Selon) สันนิษฐานว่า คำนี้คงจะมาจากคำว่าฉลางหรือถลาง ซึ่งเป็นชื่อโบราณของภูเก็ต (Junk Selon) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีชาวเลมาชุมนุมกันอยู่มากในสมัยก่อน
8.ถ้าเจ็บไข้ไม่สบายชาวมอแกนทำอย่างไร ?
มอแกนมีหมอพื้นบ้านที่รักษาโดยการเข้าทรง เพื่อเจรจากับวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขอให้ปัดเป่าความเจ็บป่วยออกไป มอแกนใช้สมุนไพรหลายอย่าง ส่วนการคลอด มอแกนยังใช้หมอตำแย ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ในการทำคลอดเป็นอย่างดี สมัยนี้มอแกนหันมาใช้ยาและการรักษาสมัยใหม่มากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังใช้วิธีคลอดโดยหมอตำแยอยู่ และยังรักษาประเพณีการอยู่ไฟ เพื่อให้มดลูกเข้าอู่เร็ว
9.ทำไมในหมู่บ้านมอแกนมีผู้หญิงจำนวนมาก ?
เมื่อเข้าไปหมู่บ้านมอแกนที่หมู่เกาะสุรินทร์ จะสังเกตเห็นว่ามีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้ชายมักจะออกทะเลแทบทุกวัน บางครั้งเดินทางไกลไปยังเกาะต่างๆ ในพม่าเพื่อจับปลา งมหอยและปลิงทะเล จึงทำให้ไม่ค่อยเห็นผู้ชายมอแกนในหมู่บ้าน
ยกเว้นวันหยุดพักจากการออกทะเลผู้ชายต้องดำน้ำลึก และเสี่ยงต่อภัยอันตรายต่างๆ จึงเสียชีวิตเร็วกว่า หากนับจำนวนประชากรแล้ว ผู้หญิงมอแกนมีจำนวนมากกว่าผู้ชายบางคนติดสารเสพติด ทั้งยังต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อให้ได้เงินมาซื้อข้าวสารและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ
10. มอแกนถือสัญชาติอะไร ?
ชาวมอแกนที่อาศัยอยู่บนหมู่เกาะสุรินทร์ มีประมาณ 30 คน เท่านั้น ที่มีสัญชาติไทยและบัตรประชาชนไทย ส่วนใหญ่ยังไร้สัญชาติและยังไม่ได้รับความคุ้มครองในฐานะพลเมืองไทย แม้ว่ามอแกนกลุ่มนี้จะตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เกาะสุรินทร์มาก่อนจะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เด็กๆ หลายคนเกิดที่นี่ และถือว่าเกาะสุรินทร์เป็นบ้านของเขา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผู้ว่าฯพังงา ตั้งงบช่วยชาวมอแกน ครอบครัวละ 3 หมื่น
“มอแกน” หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นใคร