สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 25 คน ร่วมกันเสนอร่างพระราชบัญญัติข้าว ฉบับที่ พ.ศ.... โดยหลักการจะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับชาวนา เพิ่มรายได้ชาวนา 14 ล้านคนและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพ่อค้ากับชาวนา เป็นสำคัญ
สาระสำคัญของกฎหมายที่ชัดเจนคือพุ่งเป้าไปที่โรงสีไม่ให้เอาเปรียบชาวนา โดยโรงสีต้องออกใบรับซื้อข้าวให้ชาวนา ระบุคุณภาพข้าว พันธุ์ข้าว น้ำหนัก ปริมาณความชื้น เพื่อป้องกันชาวนาถูกกดราคา ซึ่งโรงสีต้องเก็บเอกสารนี้ไว้และถูกสุ่มตรวจสอบ
สาระสำคัญอย่างที่สองคือ ผู้คิดค้นพันธุ์ข้าว ถ้าต้องการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ต้องไปขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์ก่อน โดยเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กรมการข้าว จากเดิมที่กรมการข้าวเป็นหน่วยงานวิจัย ขณะที่บทลงโทษตามร่างกฎหมายมีทั้งโทษปรับและจำคุก การบกพร่องหรือทุจริตบางเรื่องมีโทษสูงสุดคือจำคุก 3 ปี ปรับ 100,000 บาท ซึ่งผู้ร่าง พ.ร.บ.ข้าวมั่นใจว่าจะเป็นการช่วยชาวนาอย่างแท้จริง
หลักการที่ต้องดูแลชาวนาไม่มีเสียงคัดค้าน แต่เนื้อในกฎหมายทำให้ 4 สมาคมที่เกี่ยวข้องทั้งชาวนา ผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว โรงสีและกลุ่มส่งออก รวมทั้งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวจากทีดีอาร์ไอ เรียกร้องให้ถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกจากการพิจารณาของ สนช. เพราะมองว่าไม่มีใครได้ประโยชน์และยังทำลายวิถีค้าข้าว
แม้ร่างกฎหมายจะต้องการลดการเอาเปรียบจากโรงสี แต่ภาระต้นทุนที่ต้องจัดทำใบรับรองคุณภาพชัดเจน ข้าวพันธุ์ใด ความชื้นปริมาณเท่าไหร่ จากที่ไม่เคยทำจะทำให้โรงสียิ่งกดดันราคารับซื้อข้าวจากชาวนาและอาจสร้างความขัดแย้งระหว่างกัน
การห้ามจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ยังไม่ได้รับการรับรองพันธุ์ มีโทษสูง เป็นการปิดกั้นขัดขวางการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ของไทย ชาวนาไม่สามารถพัฒนาพันธุ์ของตัวเองและปลูกจำหน่ายได้ ซึ่งปัจจุบันมีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองมากกว่า 2,000 สายพันธุ์ก็จะถูกจำกัด
ส่วนการให้อำนาจกับกรมการข้าวแบบรวมศูนย์ อาจผิดแนวทางการกระจายอำนาจ จากเดิมเป็นเพียงผู้วิจัยพัฒนาพันธุ์ กรมการข้าวต้องเพิ่มบุคลากรและงบประมาณที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบกำกับดูแลการค้าข้าว ซึ่งอาจไม่ใช่ความเชี่ยวชาญ
ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ชัดเจนว่าเน้นเข้าควบคุมวิธีปฏิบัติการซื้อขายข้าวที่ผิดกับวิถีเกษตรของชาวนาและอาจปิดกั้นการพัฒนาพันธุ์ข้าว โดยขวัญใจ โกเมศ เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อมูลว่า ไทยมุ่งเน้นพัฒนาแต่เฉพาะพันธุ์ที่ชาวนาต้องการปลูกทน ไม่ใช่ตลาดต้องการ เรามีข้าวที่ต่างประเทศไม่ต้องการจำนวนมาก ความสามารถในการแข่งขันถูกลดทอน หาก 3 ปีไม่ทำอะไรไทยจะตกที่นั่งลำบาก
ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ยังถูกตั้งข้อสังเกตถึงความรีบร้อนให้กฎหมายผ่าน เพราะสนช.เพิ่งรับหลักการวาระแรก เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2562 แปรญัตติชั้นกรรมาธิการไม่ถึงเดือนและคาดว่าอาจเข้าพิจารณาในที่ประชุม วาระ 2 และวาระ 3 ในวันศุกร์หน้า เพื่อให้ทันในรัฐบาลนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชาวนาค้านร่าง พ.ร.บ.ข้าว หวั่นถูกผูกขาดเมล็ดพันธุ์