วันนี้(20 ก.พ.2562) นายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาเรื่องแผ่นดินไหวที่ อ.วังเหนือ จ.ลำปางว่า เมื่อเวลา 16.05 น.เกิดแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ที่ละติจูด 19.26 องศาเหนือ ลองจิจูด 99.61 องศาตะวันออก ขนาด 4.9 ความลึก 21 กิโลเมตร ได้รับแจ้งรู้สึกสั่นไหวบริเวณจ.เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา
ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่าแผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดบริเวณ ต.วังแก้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง จากรอยเลื่อนพะเยา ที่พาดผ่าน จ.พะเยา ลำปาง และเชียงราย โดยกรมอุตุนิยมวิทยา เฝ้าระวังและติดตามการเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
โดยตั้งแต่ช่วงเที่ยงที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสถานการณ์แผ่นดินไหวในพื้นที่ จ.ลำปาง มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ อ.วังเหนือ โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเวลา 12.01 น.ขนาด 2.1 และหลังจากนั้นยังคงเกิดแผ่นดินไหวขึ้นต่อเนื่อง ดังนี้
- เวลา 12.17 น. ขนาด 3.3
- เวลา 12.28 น. ขนาด 2.4
- เวลา 12.29 น. ขนาด 2.1
- เวลา 12.54 น. ขนาด 2.6
- เวลา 12.57 น. ขนาด 2.0
- เวลา 13.17 น. ขนาด 2.3
- เวลา 13.51 น. ขนาด 3.0
- เวลา 13.55 น. ขนาด 2.4
- เวลา 14.00 น. ขนาด 3.1
- เวลา 14.19 น. ขนาด 2.8
- เวลา 15.15 น. ขนาด 2.3
- เวลา 15.26 น. ขนาด 3.3
- เวลา 16.05 น. ขนาด 4.9
- เวลา 16.54 น. ขนาด 2.3
- เวลา 17.50 น. ขนาด 3.0
- เวลา 17.59 น. ขนาด 3.7
- เวลา 18.15 น. ขนาด 2.5
ทั้งนี้การเกิดแผ่นดินไหวบนรอยเลื่อนพะเยา ขนาด 4.9 ถือเป็นเหตุแผ่นดินไหวครั้งที่ 2 ในรอบ 25 ปี ซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 5.1 ศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2537
โดยนายนัฐวุฒิ แดนดี ผู้อำนวยการ สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบนกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาครั้งนี้ ยังไม่มีความรุนแรงมาก แต่สามารถรู้สึกได้ ขณะที่บริเวณที่เกิดเหตุไม่ค่อยมีหมู่บ้าน โดยยืนยันว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้ ไม่ใช่การเกิดอาฟเตอร์ช็อก แต่เป็นลักษณะการเกิดแผ่นดินไหวแบบกลุ่ม ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวลักษณะนี้มากว่า 40 ปีแล้ว
ภาพ : สมาคมกู้ภัยวังเหนือ จ.ลำปาง
รู้จักรอยเลื่อนพะเยาเคยแผ่นดินไหวใหญ่ 5.1 เมื่อ 25 ปี
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี รายงานว่า สำหรับแผ่นดินไหวครั้งนี้ จัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดค่อนข้างเล็ก สาเหตุเกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนพะเยาส่วนใต้ ตามระนาบแบบเหลื่อมขวา (right lateral strike slip fault) ซึ่งรอยเลื่อนนี้มีทิศทางการวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ โดยมีความยาวประมาณ 90 กิโลเมตร
ทั้งนี้กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 90 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนเหนือวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีเลื่อนตัวในแนวราบแบบเหลื่อมซ้าย ส่วนใต้วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ มีการเลื่อนตัวในแนวราบแบบเหลื่อมขวา ซึ่งกลุ่มรอยเลื่อนพะเยานี้ แบ่งเป็น 17 รอยเลื่อนย่อย เช่น รอยเลื่อนแม่ลาว รอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อนเมืองปาน
รอยเลื่อนพะเยาเคยก่อให้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 5.1 ริกเตอร์ ศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2537 ซึ่งเกิดจากการเลื่อนตัวในแนวราบแบบเหลื่อมขวาของกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาส่วนล่าง สร้างความเสียหายให้กับสิ่งก่อสร้างใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน วัด ประชาชนในพื้นที่อำเภอสรวย และอำเภอพาน รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน
ต่อมา เมื่อเวลา 18.08 น.วันที่ 5 พ.ค.2557 เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ โดยมีศูนย์กลางแผ่นดินไหว จากรอยเลื่อนแม่ลาว ที่ละติจูด 19.68 องศาเหนือ ลองติจูด 99.69 องศาตะวันออก ที่ระดับความลึก 7 กิโลเมตร บริเวณ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย ประชาชนสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนทั่วทั้งภาคเหนือ รวมทั้งผู้ที่อาศัยในอาคารสูงในกรุงเทพ และมีความเสียหายรุนแรงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในรัศมีประมาณ 30 กิโลเมตร จากศูนย์กลางแผ่นดินไหว
ยอดฉัตรเจดีย์เอียง-บ้านร้าวกว่า 10 หลัง
ต่อมาช่วงเย็น ปภ.ลำปาง รายงานความคืบหน้าแผ่นดินไหว 4.9 อ.วังเหนือ จ.ลำปาง พบว่ามีความเสียหายอาคารบ้านเรือนประชาชน พื้นที่อ.วังเหนือ ดังนี้ ต.ทุ่งฮั้ว บ้านเรือนแตกร้าว 10 หลัง เจดีย์วัดพระเกิดยอดฉัตรเอียง 1 แห่งต.วังแก้ว บ้านเรือนแตกร้าว 2 หลัง ต.วังซ้าย บ้านเรือนแตกร้าว 1 หลัง ต.วังเหนือ บ้านเรือนแตกร้าว 1
ภาพ:ชัยธวัช ศิวบวร ปภ.ลำปาง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
จับตาอาฟเตอร์ช็อกถี่แผ่นดินไหวลำปาง