นายชัยศิลป์ ปัญญาบุตร หัวหน้าฝ่ายเครื่องจักรกล องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ชี้แจงว่า ได้ตรวจสอบต้นยางนาทั้ง 2 ต้น พบว่า ต้นหนึ่งตายไปแล้วในลักษณะยืนต้นตาย เนื่องจากการก่อสร้างถนนปิดทับพื้นดินด้านบนทั้งหมด ส่งผลให้ระบบรากของต้นยางขาดอากาศและสารอาหาร
ส่วนอีกหนึ่งต้น พบว่าบริเวณโคนต้นยังคงมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อขึ้นไปตรวจสอบบริเวณแกนกลางของลำต้น พบว่ามีโพรงที่เกิดจากแมลงเข้าไปกัดกินจนทำให้ลำต้นเริ่มผุ หากไม่ดำเนินการตัดย่อมมีโอกาสที่จะเกิดการหักโค่น เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

ส่วนกรณีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่นั้น นายสมชาติ วัฒนากล้า ผู้อำนวยการสำนักการช่าง อบจ.เชียงใหม่ ระบุว่า ถือเป็นสิทธิของประชาชน หรือผู้ที่ไม่เห็นด้วย แต่ขณะนี้ อบจ.เชียงใหม่ กำลังหารือกันอย่างเร่งด่วนเพื่อชี้แจงให้เกิดความเข้าใจกับทุกฝ่าย
ทั้งนี้ ต้นยางนา บนถนนเชียงใหม่-ลำพูน ทุกต้นจะมีเลขกำกับ แสดงให้เห็นว่ามีการศึกษาและอนุรักษ์อยู่ตลอด ต้นที่อยู่ตรงสี่แยกกองทรายที่ถูกตัดเหลือแต่ลำต้น คือหมายเลข 656 และ 671

ขณะที่กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ยางนา ระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นตัวอย่างความผิดพลาดของหน่วยงานภาครัฐ ในการพัฒนาเมือง โดยไม่คิดถึงการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่
สอดคล้องกับ ผศ.วสันต์ จอมภักดี อาจารย์คณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ระบุว่า การขุดขยายถนนสามารถออกแบบ หรือใช้อุปกรณ์การก่อสร้างที่ไม่ส่งผลกระทบกับรากของต้นยางนาได้ แต่ภาครัฐกลับมองข้าม
โดยในวันเสาร์และอาทิตย์นี้ ทีมหมอต้นไม้จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เตรียมระดมมอาสาสมัครไปที่ 4 แยก เพื่อสำรวจความทรุดโทรมของต้นยางนา เพราะมีอีก 3-4 ต้นที่ไม่มีระยะถอยร่นและไม่มีดินอยู่เลย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศรีสุวรรณยื่นฟ้อง อบจ.เชียงใหม่ ตัดต้นยางนาอายุ 100 ปี