ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กินหวานเสี่ยงเบาหวาน! ภัยเงียบ น้ำตาลในเลือดสูงทำลายไต-หัวใจ

ไลฟ์สไตล์
24 เม.ย. 68
17:27
0
Logo Thai PBS
กินหวานเสี่ยงเบาหวาน! ภัยเงียบ น้ำตาลในเลือดสูงทำลายไต-หัวใจ
คนรักของหวานและแป้งต้องระวัง! การกินอาหารหวานจัด แป้งเยอะ โดยไม่ออกกำลังกาย อาจนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานที่ทำลายไต หัวใจ และดวงตาได้ ชวนทุกคนเช็กสุขภาพและเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อห่างไกลจากภัยเงียบที่มากับความอร่อย

ในยุคที่ของหวานและอาหารแป้งขาว กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเตือนว่า ความเพลิดเพลินในการกิน อาจนำไปสู่ "ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง" ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ "โรคเบาหวาน" โรคเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างรุนแรง อายุรแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อระบุว่า ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดเกิน 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งอาจพัฒนาเป็นเบาหวานหากไม่ควบคุม โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ชอบกินหวาน กินแป้ง และไม่ออกกำลังกาย

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เกิดจากอะไร ?

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง คือ สภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินปกติ ซึ่งร่างกายต้องใช้น้ำตาลเป็นพลังงานและขนส่งผ่านกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ สาเหตุหลักมาจาก พันธุกรรม หากพ่อแม่หรือญาติสายตรงเป็นเบาหวาน ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ความอ้วน ผู้ที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) เกิน 25 ถือว่าอ้วนและมีความเสี่ยงสูง และ พฤติกรรมการใช้ชีวิต การกินอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม ขนมหวาน หรือ อาหารแป้งขาว ข้าวขาว เส้นก๋วยเตี๋ยว และการไม่ออกกำลังกาย เป็นตัวเร่งให้ระดับน้ำตาลพุ่งสูง

หากน้ำตาลในเลือดสูงเพียงเล็กน้อย อาจยังไม่มีอาการ แต่เมื่อระดับน้ำตาลสูงมากหรือนานเกินไป จะส่งผลร้ายต่อร่างกาย เช่น 

  • ไตวาย น้ำตาลสูงทำลายไต นำไปสู่ภาวะ "เบาหวานลงไต" ต้องล้างไตตลอดชีวิต
  • ตาพร่า เบาหวานขึ้นตาทำให้มองไม่ชัด หรือร้ายแรงถึงขั้นตาบอด
  • หัวใจและหลอดเลือด เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและเส้นเลือดในสมองแตก
  • แผลหายช้า โดยเฉพาะที่ขาและเท้า ซึ่งอาจนำไปสู่การตัดขาในผู้ป่วยเบาหวาน
  • ผู้ที่มีน้ำตาลสูงอาจรู้สึก ชาตามปลายมือปลายเท้า เหมือนมีเข็มทิ่ม เพราะเส้นเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ไม่ดี
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

รู้ได้ยังไงว่าเป็นเบาหวาน ?

เกณฑ์สำหรับวินิจฉัยโรคเบาหวาน คือ ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร หากเกิน 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าเป็นเบาหวาน หากอยู่ระหว่าง 100-126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เป็นภาวะก่อนเบาหวาน และปกติควรต่ำกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

การตรวจ HbA1c วัดระดับน้ำตาลสะสมในเลือดย้อนหลัง 3 เดือน ปกติไม่เกินร้อยละ 5.7 หากอยู่ที่ร้อยละ 5.7-6.5 เป็นภาวะก่อนเบาหวาน และเกินร้อยละ 6.5 ถือว่าเป็นเบาหวาน

จริง-ไม่จริง ? อาการไหนเกิดจาก "น้ำตาลในเลือดสูง"

สสส.ชี้แจงอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง บางครั้งมีความใกล้เคียงกับอาการที่เกิดขึ้นทั่วไปในชีวิตประจำวัน 

อาการที่ 1 คอแห้ง หิวน้ำบ่อย
อาการนี้จริง เมื่อร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายจะสูญเสียน้ำออกมาทางปัสสาวะ คนไข้จะปัสสาวะบ่อย ร่างกายจึงขาดน้ำ ทำให้หิวน้ำบ่อย แต่อาการโดยทั่วไปไม่ได้แตกต่างจากการหิวน้ำปกติ

อาการที่ 2 ขี้โมโห หงุดหงิดง่าย
อาการนี้ไม่จริง โดยปกติแล้วภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ไม่ได้ส่งผลต่ออาการขี้โมโหหรือหงุดหงิดง่าย แต่คนที่มีน้ำตาลในเลือดสูง ถือว่าร่างกายไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ บางครั้งอาจรู้สึกไม่สบายตัวทำให้หงุดหงิดง่าย สำหรับคนที่กินของหวานแล้วอารมณ์ดีอาจเป็นเพราะการกินอาหารที่ชอบช่วยให้มีความสุข มีอารมณ์ดีขึ้น

อาการที่ 3 ง่วงนอน
อาการนี้ไม่จริง น้ำตาลในเลือดสูงไม่ได้ส่งผลโดยตรงให้รู้สึกง่วงนอนมากขึ้น แต่เมื่อร่างกายมีน้ำตาลสูงจะทำให้อ่อนเพลีย ไม่มีแรง อยากพักผ่อน

อาการที่ 4 ปัสสาวะบ่อย
อาการนี้จริง เพราะน้ำตาลในเลือดจะไปที่ไต ไตจึงขับปัสสาวะออกมาเยอะ สังเกตได้ง่าย ๆ ว่าหากใครต้องลุกมาเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน 2-4 ครั้ง อาจเป็นสัญญาณของโรคเบาหวานได้ โดยปกติคนทั่วไปจะลุกมาเข้าห้องน้ำไม่เกิน 1-2 ครั้ง ส่วนจำนวนครั้งของการปัสสาวะต่อวันก็ไม่ได้มีตัวเลขที่แน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ดื่มเข้าไป

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

3 วิธีป้องกันน้ำตาลในเลือดสูง

การป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูงนั้นไม่ยาก เพียงเริ่มจากเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้

  • เลี่ยงน้ำตาลเชิงเดี่ยว ลดการกินน้ำหวาน น้ำผลไม้ ขนมหวาน และเลือกผลไม้รสไม่หวานแทน
  • ลดคาร์โบไฮเดรต จำกัดปริมาณข้าวขาว เส้นก๋วยเตี๋ยว และหันมากินข้าวกล้องหรือธัญพืช
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที 5 วัน/สัปดาห์ เช่น เดินเร็ว วิ่ง หรือโยคะ เพื่อควบคุมน้ำหนักและระดับน้ำตาล

หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น "เบาหวาน" แล้ว ผู้ป่วยต้องกินยาตามแพทย์สั่งและตรวจติดตามระดับน้ำตาลทุก 3-4 เดือน การปรับพฤติกรรม เช่น ลดของหวานและออกกำลังกาย ช่วยควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ การรู้ทันและป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้คุณห่างไกลจากเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ที่มา : สสส.

อ่านข่าวอื่น : 

เข้มผู้ประกอบการดำน้ำ ต้องมีผู้คุมนักท่องเที่ยว-ห้ามถ่ายภาพใต้น้ำ

ส่อง "กฎหมายสัตว์เลี้ยง" 10 ชาติอาเซียน ใครคุ้มครองสัตว์ดีสุด ?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง