ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กางงบประมาณ "กลาโหม" รัฐบาลยุคใคร ? ให้ "มาก-น้อย"

การเมือง
22 ก.พ. 62
10:39
6,724
Logo Thai PBS
กางงบประมาณ "กลาโหม" รัฐบาลยุคใคร ? ให้ "มาก-น้อย"
หลังกองทัพถูกตั้งคำถามถึงการใช้งบประมาณ จน โฆษกกลาโหมต้องออกมาชี้แจงโดยยืนยันว่าจัดสรรตามภารกิจซึ่ง "ไทยพีบีเอส" ได้รวบรวมข้อมูลและเผยให้เห็นว่ารัฐบาลในแต่ละยุคจัดสรรงบประมาณมาก-น้อยเพียงใด

หลังจากที่ พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ออกมาชี้แจงการใช้งบประมาณกองทัพในช่วง 25 ปี เมื่อ 2 วันก่อน หลังจากพรรคการเมืองชูนโยบายหาเสียงโดยพุ่งเป้าตัดงบประมาณกระทรวงกลาโหมโดยระบุว่า กระทรวงกลาโหมได้รับจัดสรรงบประมาณแต่ละปีเพิ่มขึ้น แต่เป็นไปตามงบประมาณภาพรวมรายจ่ายทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับงบประมาณและรายได้ประเทศที่เติบโตขึ้นและยืนยันจัดสรรตามภารกิจและขนาดกระทรวง

เมื่อถามว่างบประมาณกระทรวงกลาโหมสูงหรือไม่ พิจารณาจากอะไร ไทยพีบีเอส รวบรวมข้อมูลและพบว่า ตัวเลขงบประมาณกระทรวงกลาโหมสูงหรือไม่และสูงในยุคใคร แนวโน้มเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าจะหยิบยกตัวเลขใดมาพูด เพื่อประโยชน์ทางการเมือง เมื่อพิจารณางบประมาณกระทรวงกลาโหมย้อนหลัง 12 ปี จะมีรายละเอียดดังนี้

 

ภาพกราฟิกแสดงงบประมาณกระทรวงกลาโหมเปรียบเทียบรัฐบาลอื่นที่ผ่านมา

ภาพกราฟิกแสดงงบประมาณกระทรวงกลาโหมเปรียบเทียบรัฐบาลอื่นที่ผ่านมา

ภาพกราฟิกแสดงงบประมาณกระทรวงกลาโหมเปรียบเทียบรัฐบาลอื่นที่ผ่านมา

 

1. ในยุคที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดทำงบประมาณ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2557 – 2562 งบประมาณกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 ปี 4.37% รวมกว่า 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ในรอบ 12 ปี

ในยุค คสช.อนุมัติการจัดซื้ออาวุธยุทธปกรณ์ เช่น

เฮลิคอปเตอร์ MI17 V ของรัสเซีย 6 ลำ ประมาณ 4,500 ล้านบาท

รถถัง VT4 ของจีน อนุมัติแล้ว 38 คัน เกือบ 7,000 ล้านบาท

กองทัพอากาศมีแผนจะจัดซื้อเครื่องบินกริพเพน ทดแทนลำที่ตก

เฮลิคอปเตอร์ที่จะต้องจัดซื้อมาแทนฮิวอี้ เบล 212 และเฮลิคอปเตอร์กู้ภัยที่ใช้มายาวนานหลายปี

เรือดำน้ำชั้นหยวน s 26 T ของจีน 1 ลำ 13,500 ล้านบาท และมีแผนจัดซื้อให้ครบ 3 ลำ ต้องใช้งบประมาณ 36,000 ล้านบาท และอีกหลายรายการ

โดยเฉลี่ยกองทัพบกได้รับงบประมาณมากที่สุดกว่า 50% ของงบประมาณทั้งหมด รองลงมาคือ กองทัพเรือและกองทัพอากาศ

2.ในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย จัดทำงบประมาณ 3 ปี คือในช่วงปี ‪2555-2557‬ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเพิ่มงบประมาณกระทรวงกลาโหมเฉลี่ย 3 ปี 2.94% สวนทางกับที่มีการหาเสียงในขณะนี้ ไม่นับรวมยุครัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่กลับมาเป็นรัฐบาลหลังการรัฐประหาร ก็ไม่ได้ตัดงบประมาณกระทรวงกลาโหมแต่อย่างใด

3.ในยุคที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ จัดทำงบประมาณปี 2553 โดยเป็นรัฐบาลที่ตัดงบประมาณจากปี 2552 ในยุครัฐบาลสมัคร-สมชาย แต่เพิ่มในปี 2554 ทำให้ตัวเลขเฉลี่ย 2 ปี ของประชาธิปัตย์ งบประมาณกระทรวงกลาโหมติดลบ -0.49%

 

ภาพกราฟิกแสดงงบประมาณกระทรวงกลาโหมเปรียบเทียบกับจีดีพี

ภาพกราฟิกแสดงงบประมาณกระทรวงกลาโหมเปรียบเทียบกับจีดีพี

ภาพกราฟิกแสดงงบประมาณกระทรวงกลาโหมเปรียบเทียบกับจีดีพี


เมื่อนำงบประมาณกระทรวงกลาโหมในแต่ละปี มาเปรียบเทียบกับจีดีพี ในยุคนั้นๆ ก็จะเห็นอีกภาพหนึ่ง ดังนี้

ยุครัฐบาล คสช.งบประมาณกระทรวงกลาโหม มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับจีดีพี ปีล่าสุดอยู่ที่ 1.29% ซึ่งจีดีพีเติบโตมากขึ้นแต่งบประมาณกลาโหมไม่ได้โตตามในสัดส่วนเดียวกันและมีแนวโน้มลดลง

และหากเทียบงบกระทรวงกลาโหมไทยต่อจีดีพี ในระดับ 1.2% – 1.4% ต่ำกว่ากับค่าเฉลี่ยงบการทหารทั่วโลกต่อจีดีพีโลกอยู่ที่ 2.2% (ข้อมูลปี 2016 จากบีบีซีไทย)

 

ภาพกราฟิกแสดงงบประมาณกระทรวงกลาโหมเปรียบเทียบกับงบประมาณประจำปี

ภาพกราฟิกแสดงงบประมาณกระทรวงกลาโหมเปรียบเทียบกับงบประมาณประจำปี

ภาพกราฟิกแสดงงบประมาณกระทรวงกลาโหมเปรียบเทียบกับงบประมาณประจำปี

 

เมื่อนำงบประมาณกระทรวงกลาโหม มาเทียบกับงบประมาณประจำปีจะเห็นอีกภาพหนึ่ง ดังนี้

สัดส่วนงบกลาโหมในยุค คสช. อยู่ในระดับ 7% กว่า เช่น ปี 2562 งบประมาณรวม 3 ล้านล้าน งบกระทรวงกลาโหมได้ 2.27 แสนล้านบาท คิดเป็น 7.6% ใกล้เคียงยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

กลับกลายเป็นยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่แม้จะตัดงบประมาณในปี 2553 แต่เมื่อเทียบกับงบประมาณทั้งหมดในปีนั้น งบประมาณรวม 1.7 ล้านล้านบาท งบประมาณกระทรวงกลาโหม อยู่ที่ 1.54 แสนล้านบาท คิดเป็น 9.06% ยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ มีสัดส่วนสูงกว่า ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และยุค คสช.

ทั้งนี้ ประเด็นถกเถียงจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขงบประมาณ แต่อยู่ที่ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับภัยความมั่นคงรูปแบบใดที่จะเหมาะกับขนาดของกองทัพไทย และเหมาะสมกับงบประมาณด้านการทหาร

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง