วันนี้ (22 ก.พ.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา พร้อมด้วยเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลกว่า 30 คน ยื่นหนังสือถึงนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ เพื่อคัดค้านการจดทะเบียนตราสัญลักษณ์ "น้ำแร่ธรรมชาติยี่ห้อดัง" ซึ่งมีรูปแบบลักษณะใกล้เคียงกับเครื่องดื่มเบียร์ยี่ห้อดัง ซึ่งมีผู้แทนของกรมทรัพย์สินฯ มารับเรื่องแทน
นายคำรณ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้อนุญาตให้มีการจดทะเบียนตราเสมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นจำนวนมากที่เป็นน้ำดื่ม โซดา ทำให้กลายเป็นเครื่องมือของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการโฆษณาหลบเลี่ยงกฎหมาย หลบเลี่ยงการควบคุมโฆษณา ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ไม่ต่างอะไรกับการใช้เล่ห์กลธุรกิจเพื่อหวังใช้โฆษณาแทนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งวิธีที่ธุรกิจน้ำเมาใช้ คือขอจดทะเบียนใช้เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้า ประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว ซึ่งจะพบป้ายตราเสมือนเหล่านี้เกลื่อนเมือง ทั้งในรูปแบบบิลบอร์ด แบนเนอร์ ป้ายบนตึกอาคารสูง ป้ายตู้ไฟ ป้ายตามร้านเหล้าผับบาร์ ตามงานอีเว้นท์ คอนเสิร์ตต่างๆ ของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ลงพื้นที่สำรวจการรับรู้และความคิดเห็นของเด็กเยาวชน กรณีภาพสัญลักษณ์และการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มตัวอย่าง 1,000 คน โดยแสดงภาพ 10 ภาพ ซึ่งเป็นภาพสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายหรือป้ายโฆษณาน้ำดื่ม โซดา พบว่าเด็กเยาวชนเข้าใจว่าภาพดังกล่าวเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงถึงร้อยละ 82 นอกจากนี้ ร้อยละ 42.60 เห็นว่าการแสดงภาพสัญลักษณ์ดังกล่าว เป็นการจงใจมีเจตนาเลี่ยงกฎหมายให้คนเข้าใจว่าเป็นโฆษณาแฝงของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
สำหรับข้อที่น่าสนใจ คือกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39 และร้อยละ 58 เห็นว่าโลโก้น้ำดื่ม โซดา ที่คล้ายคลึงเครื่องดื่ม มีผลทำให้จูงใจให้ผู้พบเห็นตัดสินใจซื้อหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยตรงหรือโดยอ้อม ขณะเดียวกัน งานวิจัยเรื่อง "การรับรู้ของประชาชนต่อการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านแบรนด์ DNA และสัญลักษณ์ที่มีความคล้ายคลึงกัน" โดย ดร.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 15 ปีขึ้นไป พบว่าร้อยละ 80 มีความเข้าใจว่าป้ายโฆษณาเครื่องหมายการค้าน้ำดื่ม โซดา เป็นตราเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ด้านนายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า บริษัทเบียร์ยี่ห้อดังหันมาใช้การโฆษณาฉ้อฉลแบบนี้ เพราะเขาเห็นแล้วว่าในด้านการรับรู้สร้างการจดจำได้ ไม่ต่างอะไรไปจากการใช้ตราเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาโฆษณาเลย สำหรับการยื่นคำขอจดทะเบียนน้ำแร่ธรรมชาติยี่ห้อดังมีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้า ประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว ทำให้สับสนหลงผิดเกี่ยวกับชนิดของสินค้า ประชาชนทั่วไปไม่สามารถแยกแยะว่าป้ายโฆษณาเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนเป็นจำพวกน้ำดื่ม น้ำแร่ ไม่ใช่ป้ายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2524 มาตรา 8 (13) ซึ่งถือว่าขัดวัตถุประสงค์ของการใช้เครื่องหมายการค้าที่ต้องการให้แยกแยะชนิดของสินค้าหรือบริการ อีกทั้งยังเข้าข่ายการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เนื่องจากผู้ยื่นคำขอหลีกเลี่ยงที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 ซึ่งห้ามการโฆษณาหรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม
ดังนั้น การยื่นขอจดทะเบียนดังกล่าว จึงไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า และนายทะเบียนจะต้องเพิกถอนคำสั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามมาตรา 30 ที่ผ่านมาจากการอนุญาตของกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้สร้างปัญหามากมาย เพราะมีตราเสมือนแบบเดียวกันนี้ถูกธุรกิจน้ำเมานำไปใช้ในทางฉ้อฉล ไม่ตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นเรื่องที่กรมเองต้องรับผิดชอบในปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย มิใช่สักแต่อนุญาตโดยไม่ดูว่าปัญหาที่จะตามมาคืออะไรและจะสร้างปัญหากับกฎหมายอื่นแค่ไหน