ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรกับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในประเทศไทย พบ 4 ประเด็นที่น่าสนใจ
ประเด็นแรก การเปรียบเทียบแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงทางลักษณะประชากร สังคมและเศรษฐกิจ ภายในกลุ่มและระหว่างประชากรในแต่ละกลุ่มอายุ ได้ใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน 5 ชุดข้อมูล คือปี พ.ศ.2533, 2537, 2543, 2547 และ 2552 เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลา 20 ปี
ซึ่งหากจำแนกประชากรเป็น 3 กลุ่มได้แก่ วัยเด็ก วัยแรงงาน และวัยสูงอายุ พบว่าระหว่างปี พ.ศ.2533 และ พ.ศ.2552 สัดส่วนประชากรในแต่ละกลุ่มเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยประชากรเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี มีสัดส่วนลดลงและมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่ประชากรสูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นโดยคิดเป็นสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว
ประเด็นที่สอง การศึกษาเปรียบเทียบลักษณะทางประชากรและสังคม ตลอดจนสถานะทางเศรษฐกิจของประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปและไม่ได้ทำการศึกษาอยู่ โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ.2529 - 2552 โดยแบ่งประชากรเป็น 4 กลุ่ม
1) วัยแรงงานตอนต้น อายุ 15-29 ปี
2) วัยแรงงานตอนกลาง อายุ 30-44 ปี
3) วัยแรงงานตอนปลาย อายุ 45-59 ปี
4) ประชากรสูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป
โดยพิจารณาจากภูมิภาค, เขตที่อยู่อาศัย, ระดับการศึกษา, ภาคการผลิต, ลักษณะของงานที่ทำ, สถานะทางเศรษฐสังคมของครัวเรือน, ระดับรายได้เฉลี่ยต่อเดือน และแหล่งที่มาของรายได้
โดยผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าประชากรในแต่ละกลุ่มอายุ มีลักษณะเฉพาะทางประชากร สังคม และเศรษฐกิจแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรสูงอายุ ซึ่งพบว่าเป็นกลุ่มที่มีระดับการศึกษาต่ำที่สุด คือ มากกว่า 4 ใน 5 ไม่ได้รับการศึกษาหรือจบการศึกษาเพียงระดับประถมศึกษา มากกว่าครึ่งไม่ได้ทำงานหรือประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจใดๆ ส่วนใหญ่จึงไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ต่ำกว่า 500 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบรายได้เฉลี่ยของประชากรในแต่ละกลุ่มอายุ พบว่าประชากรสูงอายุเป็นกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำที่สุด โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากเงินช่วยเหลือ
ประเด็นที่สาม การวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชากรในแต่ละกลุ่มอายุทั้งที่วัดจากสัดส่วนรายได้ และสัมประสิทธิ์จีนี่ (Gini Coefficient) ซึ่งคำนวณรายได้ของประชากรแต่ละคน
โดยสัมประสิทธิ์จีนี่จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 และยิ่งสัมประสิทธิ์จีนี่มีค่าสูงเท่าใด แสดงว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชากรยิ่งสูงเท่านั้น
โดยผลการวิจัยต่างชี้ให้เห็นว่าประชากรสูงอายุมีความแตกต่างทางรายได้ภายในกลุ่มสูงที่สุด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นคือประชากรสูงอายุบางคนมีรายได้สูงมาก ในขณะที่บางคนมีไม่มีรายได้หรือรายได้น้อยมาก ซึ่งจากความแตกต่างทางรายได้ภายในกลุ่มผู้สูงอายุด้วยกันแสดงให้เห็นว่า มีผู้สูงอายุบางส่วนที่ความสามารถในการทำงานหารายได้ลดลง และส่วนใหญ่ไม่ได้มีการสะสมทรัพย์สินใดๆไว้ จึงต้องพึ่งพาสมาชิกครอบครัวในวัยแรงงาน
ในขณะที่มีประชากรสูงอายุอีกส่วนหนึ่งที่ยังคงมีความสามารถในการทำงานหารายได้ หรือได้เก็บสะสมทรัพย์สินไว้ ทำให้มีรายได้ไว้ใช้จ่ายในยามชราภาพ
ดังนั้นหากประชากรสูงอายุส่วนใหญ่ไม่สามารถทำงานเพื่อหารายได้เลี้ยงดูตนเองได้ หรือยังคงต้องพึ่งพิงประชากรวัยแรงงานมากขึ้น ย่อมทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของกลุ่มประชากรสูงอายุสูงขึ้น อันจะส่งผลต่อเนื่องไปยังความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชากรในภาพรวมของประเทศ และอาจก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆตามมาอีกเป็นจำนวนมากได้
ประเด็นที่สี่ การแยกส่วนวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ตามกลุ่มอายุประชากร พบว่าความเหลื่อมล้ำส่วนใหญ่สามารถอธิบายได้จากความเหลื่อมล้ำทางรายได้ภายในประชากรกลุ่มอายุเดียวกัน
ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดจากมิติทางประชากร สังคม และเศรษฐกิจ ที่ส่งผลทำให้รายได้ของประชากรแต่ละคนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันมีความแตกต่างกันค่อนข้างสูง
สำหรับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างกลุ่มประชากร พบว่ามีไม่มากนัก แต่เมื่อพิจารณาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างกลุ่มประชากรสูงอายุกับประชากรกลุ่มอายุอื่นๆ แล้ว กลับพบว่ามีค่าเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากรายได้เฉลี่ยของกลุ่มประชากรสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของประชากรกลุ่มอายุอื่นๆ ส่งผลให้ความแตกต่างทางรายได้เพิ่มสูงขึ้น
การศึกษาที่สูงขึ้น นโยบายประกันสังคม และนโยบายสวัสดิการของเอกชน จะช่วยทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชากรสูงอายุมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น ในขณะที่ความไม่สมดุลในระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค และสถานะทางเศรษฐสังคมไม่เอื้ออำนวย จะส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของผู้สูงอายุ
ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร หากสามารถลดช่องว่าง หรือความแตกต่างทางรายได้ระหว่างกลุ่มประชากรสูงอายุกับกลุ่มประชากรในช่วงอายุอื่น รวมทั้งลดความแตกต่างทางรายได้ภายในกลุ่มประชากรผู้สูงอายุด้วยกันได้แล้ว ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประเทศน่าจะบรรเทาเบาบางลง
นั่นจึงมีนัยเชิงนโยบายที่ควรนำมาใช้แก้ปัญหานี้ เช่น เสนอการเพิ่มหลักประกันทางรายได้ให้กับประชากรเมื่อก้าวเข้าสู่วัยชราภาพ ซึ่งอาจดำเนินการผ่านกองทุนประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงการเพิ่มรายได้ให้แก่ประชากรสูงอายุโดยการส่งเสริมการทำงานหลังเกษียณ การอบรมความรู้ เพิ่มพูนทักษะ การฝึกอาชีพ ที่มีความเหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้สูงอายุ
นอกจากนั้นควรให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ต่ำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง และสร้างความตระหนักให้กับประชากรวัยแรงงานเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุล่วงหน้าอย่างเหมาะสม เพื่อลดภาระของภาครัฐและสังคมในการช่วยเหลือผู้สูงอายุเหล่านี้ต่อไปในอนาคต
ที่มา : สวรัย บุณยมานนท์ และคณะ, การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรกับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในประเทศไทย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2445.
ให้เสียงประชาชนไปไกลกว่าการเลือกตั้ง
#เลือกตั้ง62