ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ภาษีเงินได้ของเราไม่เท่ากัน แต่เหลื่อมล้ำเท่ากัน ?

เศรษฐกิจ
5 มี.ค. 62
18:46
6,898
Logo Thai PBS
ภาษีเงินได้ของเราไม่เท่ากัน แต่เหลื่อมล้ำเท่ากัน ?
จริงไหม...ภาษีเงินได้เป็นตัวแปรลดความเหลื่อมล้ำ จริงไหม...มาตรการลดหย่อนภาษี เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มต่างๆ ไม่เท่ากัน จริงไหม...โครงสร้างภาษีไทย ไม่เป็นธรรม

รายงานศึกษาของธนาคารโลก พบว่า ระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้ของไทย มีความไม่เป็นธรรมอยู่สูง เนื่องจากระบบได้เปิดช่องว่างให้ผู้ที่มีเงินได้พึงประเมิน ไม่ต้องเสียภาษีเป็นจำนวนมาก การปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีเงินได้จึงเป็นสิ่งที่มีการพูดถึงกันมาก

แต่อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีอื่น ๆ มักเกิดขึ้นได้ยากในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากการขาดข้อมูลที่จะนำมาศึกษาเป็นแนวทางและขาดแผนการปฏิรูปที่ชัดเจน

แต่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax : PIT) เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐ นอกจากนั้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายังมีหน้าที่ในการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางที่คล้ายประเทศไทยนั้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศทางยุโรปและเอเชีย จะพบว่าสัดส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรายได้ภาษีทั้งหมดของประเทศ อาจสูงถึงร้อยละ 25

แต่สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลในปี พ.ศ.2559 พบว่าสัดส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 16 เท่านั้น แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มรายรับจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากมีการปฏิรูประบบภาษีอย่างเหมาะสม เช่น การขยายฐานภาษี และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ

ซึ่งหากมีการออกแบบและปฏิรูปได้อย่างเหมาะสมแล้ว รัฐบาลอาจไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มอัตราภาษี และระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะมีส่วนช่วยในการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศลงได้อีกด้วย

งานวิจัยเรื่อง “แนวทางการปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและวิเคราะห์การกระจายรายได้ของผู้มีเงินได้พึงประเมิน” ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทยในมิติต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการออกแบบและเสนอแนวทางปฏิรูปเพื่อให้ระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความเป็นธรรม และรัฐสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยอาจไม่จำเป็นที่จะต้องมาจากการเพิ่มอัตราภาษี

โดยการศึกษาครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่สถาบันวิจัยนอกกระทรวงการคลัง ได้เข้าถึงและใช้ข้อมูลปฐมภูมิจากแบบยื่น ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 จึงทำให้สามารถเห็นภาพการทำงานของระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้อย่างแจ่มชัด รวมถึงการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของระบบ

ผลการศึกษาพบว่า ระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยมีลักษณะก้าวหน้า (Progressive Taxation) คือหากมีรายได้สูงจะมีอัตราภาษีที่สูง ซึ่งระบบนี้จะช่วยให้เกิดการกระจายรายได้

แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยระบบดังกล่าวนี้จะมีส่วนช่วยกระจายรายได้เฉพาะผู้ที่ยื่นแบบภาษี แต่ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการกระจายรายได้ของทั้งประเทศโดยรวม

จากการศึกษาพบว่าการจัดเก็บภาษีเงินได้ของไทยมีจุดอ่อนหลายเรื่อง เช่น การจัดเก็บภาษีเงินได้ยังไม่ครอบคลุมเงินได้ทุกประเภท กรมสรรพากรประสบความสำเร็จอย่างสูงในการจัดเก็บภาษีเงินได้ประเภท “เงินเดือนประจำ”

แต่การจัดเก็บภาษีเงินได้ที่เกิดจากทรัพย์สินและการทำธุรกิจของบุคคลธรรมดานั้น ยังเก็บได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ระบบภาษีจึงยังไม่เป็นธรรม และไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำของทั้งประเทศมากนัก

นอกจากนี้การบรรเทาภาระภาษีของบุคคลธรรมดาโดยการยกเว้น การหักค่าใช้จ่าย และการลดหย่อนเงินได้ที่มีหลากหลายรูปแบบ ส่งผลให้รายรับจากการจัดเก็บภาษีลดต่ำลงไปอีก นอกจากนี้มาตรการลดหย่อนต่างๆ ที่ผ่านมา ยังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มต่างๆ ไม่ทัดเทียมกัน จึงเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดความไม่เป็นธรรมของระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยในปัจจุบัน

จากการศึกษายังพบอีกว่า การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยมีผู้เสียภาษีจริงอยู่ไม่ถึงร้อยละ 10 ของประชากรในวัยทำงาน ซึ่งในด้านนี้มีสองประเด็นที่ต้องพิจารณาและมีการปฏิรูปต่อไป

หนึ่งคือจุดอ่อนอันเกิดจากกฎหมายและระเบียบ เช่น การยกเว้นรายได้สำคัญบางประเภท การเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตราต่ำ และการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา

ประเด็นที่สองคือ การที่กลุ่มต่างๆ สามารถหลีกเลี่ยงภาษีอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการไม่กรอกแบบภาษีอย่างสิ้นเชิงแม้ว่าจะมีรายได้ในระดับดี

จะเห็นได้ว่าการปรับปรุงระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมเป็นสิ่งสำคัญ และหากประเทศไทยมีการปฏิรูประบบภาษีเงินได้ให้มีความเหมาะสมแล้ว จะเป็นการช่วยเพิ่มรายรับให้กับรัฐบาล โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มอัตราภาษี และยังเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ในสังคมไทยได้อีกด้วย
 
ที่มา : ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคณะ, โครงการแนวทางการปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและวิเคราะห์การกระจายรายได้ของผู้มีเงินได้พึงประเมิน, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2560.

ให้เสียงประชาชนไปไกลกว่าการเลือกตั้ง
#เลือกตั้ง62

ข่าวที่เกี่ยวข้อง