ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลือกตั้ง2562 : คำสัญญา "นักการเมือง" ต้านคอร์รัปชัน

การเมือง
5 มี.ค. 62
20:20
877
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2562 : คำสัญญา "นักการเมือง" ต้านคอร์รัปชัน
วันที่ 7 กับเวที 10 วัน 1000 นาที ชี้อนาคตประเทศไทย พูดคุยกับตัวแทน 5 พรรคการเมืองในหัวข้อ "คำสัญญา แก้ปัญหาคอร์รัปชันไทย"

วันนี้ (5 มี.ค.2562) วันที่ 7 ไทยพีบีเอส จัดรายการ 10 วัน 1000 นาที ชี้อนาคตประเทศไทย พูดคุยกับแกนนำพรรคการเมือง 5 พรรคเกี่ยวกับทิศทางในประเด็น "คำสัญญา แก้ปัญหาคอร์รัปชันไทย" 

 

เห็นด้วยหรือไม่ที่พรรคการเมืองเป็นต้นตอของคอร์รัปชัน

 

นายชุมพล ครุฑแก้ว พรรคกลาง กล่าวว่า ทุกคนต้องรับผิดชอบ โดยเราต้องไม่ยอมรับและเด็ดขาดกับคอร์รัปชัน ส่วนนายนิกร จำนง พรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่า คอร์รัปชัน คือการฉ้อราษฎร์บังหลวง มันอยู่ที่เราจะจัดการกับมันอย่างไร ขณะที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า นักการเมืองที่ไม่ดี นักธุรกิจที่ไม่ดี เป็นต้นตอของคอร์รัปชัน เป็นเรื่องของคนไม่ดี เช่นเดียวกับนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา พรรคเพื่อไทย ระบุว่า การทุจริต คอร์รัปชัน เป็นโรคร้ายที่ทำให้เกิดปัญหาในประเทศ โดยเฉพาะภาคธุรกิจภาคราชการ ซึ่งอาจเอาเงินภาษีของประชาชนไปใช้ส่วนตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันแก้ปัญหา ขณะที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช พรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า ต้นตอของการทุจริตคอร์รัปชัน คือกลุ่มชนชั้นที่มีอำนาจในสังคม มีระบอบอุปถัมภ์

 

แก้ปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างไร

 

 

นายชุมพล ครุฑแก้ว พรรคกลาง ระบุว่า เรื่องคอร์รัปชันเป็นเรื่องบรรทัดฐานของสังคม สังคมต้องไม่ยอมรับแม้แต่การผิดเล็กๆ น้อยๆ ถึงจะแก้ได้ทั้งระบบ

 

นอกจากนี้ ต้องทำให้ระบบโปร่งใสขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีอย่างระบบบล็อกเชน

 

นายนิกร กล่าวว่า การบริหารราชการแผ่นดิน ต้องมีธรรมาภิบาล โดยต้องเน้นแก้ปัญหาคอร์รัปชันในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม เน้นเรื่องการศึกษา และมีคุณธรรมจริยธรรมที่จะยับยั้งตนเองให้ได้ โดยประชาชนต้องแสดงความเป็นเจ้าของ รู้จักการตรวจสอบในเงินของตนเอง

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า คอร์รัปชัน เกิดจากการไม่มีสำนึก พรรคประชาธิปัตย์ จึงต้องสร้างจิตสำนึก และต้องมีการปิดกั้นโอกาสคอร์รัปชัน ทั้งการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง และการตรวจสอบ เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมาตรวจสอบได้มากขึ้น และทั้งหมดจะนำไปสู่การแก้กฎหมาย ในส่วนกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง และปรับปรุง แก้ไขให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา รวมทั้งการยึดทรัพย์ทางแพ่ง พบคอร์รัปชันเมื่อไหร่ ยึดทรัพย์ได้เมื่อนั้น

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า อำนาจรัฐในปัจจุบันมีมากแล้วคนก็ใช้อำนาจรัฐหาประโยชน์ใส่ตัว เพราะฉะนั้นต้องกลับมาทบทวนอำนาจรัฐใหม่ ควรลดอำนาจรัฐ ก็จะไม่มีเครื่องมือคอร์รัปชันได้ และควรลดดุลยพินิจ เพราะเป็นช่องโหว่ในการคอร์รัปชัน ประเด็นสุดท้ายต้องตรวจสอบได้ โดยประชาชน นอกจากนี้ ต้องปลูกฝังเด็กให้รังเกียจการทุจริตคอร์รัปชัน และไม่ใช้ระบบอุปถัมภ์

น.ส.พรรณิการ์ ระบุว่า ใน 1 ปี ไทยสูญเสียจากการคอร์รัปชัน 200,000 ล้านบาท ซึ่งหมายถึงค่ารถไฟฟ้า 4 สาย ค่าอาหารกลางวันของเด็กในประเทศ สำหรับอนาคตใหม่ การใช้อำนาจเผด็จการแก้คอร์รัปชันไม่ได้ แต่ต้องใช้ประชาธิปไตย โดยให้ประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบ ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยี Open data ให้ประชาชนตรวจสอบได้ง่าย ต้องมีกฎหมายคุ้มครองผู้ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน และกระตุ้นจิตสำนึกให้ประชาชนผู้เสียภาษีเป็นผู้ตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชัน และให้ผู้เสียภาษีเลือกได้ว่าภาษีจะไปพัฒนาส่วนไหนของประเทศ

 

พรรคการเมืองมองเห็นช่องทางในการทุจริตคอร์รัปชันในช่องทางใดบ้าง แล้วจะอุดช่องทางนั้นอย่างไร

 

 

น.ส.พรรณิการ์ วานิช พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ช่องทางคอร์รัปชัน คือการใช้ทุนมาก ต้องถอนทุนมาก เมื่อใช้เงินหลักพันล้านในการเลือกตั้ง จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีนายทุนพรรค และเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีระบบอุปถัมภ์ และเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการสนับสนุนพวกพ้อง

 

พรรคอนาคตใหม่เชื่อว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ จึงเปิดรับบริจาคจากประชาชนทุกคน ไม่ใช่จากนายทุน

 

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ผู้ที่คอร์รัปชันมีหลายส่วน การแก้ไขต้องทำระบบให้โปร่งใส ลดการใช้ดุลยพินิจ แต่การทุจริตคอร์รัปชันมีทุกระดับ แต่คนที่มีอำนาจมาก จะสามารถคอร์รัปชันได้มาก

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า การคอร์รัปชัน เริ่มจากข้าราชการและฝ่ายการเมืองร่วมกัน ทำให้การคอร์รัปชันสะดวกมากขึ้น การคอร์รัปชันมีรูปแบบใหม่เสมอ โดยมีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือนำไปสู่การที่ทำให้ภาครัฐผิดสัญญา เช่น คดีค่าโง่ทางด่วน การแก้ปัญหา ต้องมีการปิดกั้นโอกาสคอร์รัปชัน และต้องแก้ไขกฎหมาย สร้าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการทำสัญญาของรัฐ เพราะคนที่เซ็นสัญญาไม่เคยรับผิดชอบความเสียหายใดๆ เลย

นายนิกร กล่าวว่า ทุกประเทศคอร์รัปชัน ส่วนทางแก้ไข คือต้องเข้าใจว่า คอร์รัปชัน เหมือนปลากับแมว แมวกินปลาตลอด ธรรมชาติของคนถ้ามีช่องทางก็จะมีคอร์รัปชัน ฉะนั้นต้องมีการหาฝาชีครอบ คือ กฎหมายที่ดี 2.ต้องดูแลแมวอย่าให้หิวมาก ดังนั้น ข้าราชการต้องมีสวัสดิการที่ดี 3. คือ เจ้าของแมวหรือประชาชน ต้องช่วยกันดูแล

นายชุมพล กล่าวว่า ช่องทางทุจริต สำหรับคนที่ต้องการทุจริตมีเสมอ พรรคกลางเสนอทางแก้ไขโดยใช้บล็อกเชน โดยใช้ 3 คีย์เวิร์ด คือ "เงินสด" ด้วยการลดใช้เงินสด โดยตั้งมาตรการเกิน 10,000 บาท ต้องโอนเท่านั้นห้ามใช้เงินสด คำที่ 2 คือหลักฐาน สามารถใช้บล็อกเชนเก็บหลักฐานในการทำงาน เป็นฐานข้อมูลที่กระจายไปหลายที่ให้ประชาชนเก็บข้อมูลได้ สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ และยืนยันตัวบุคคลในการรับผิดชอบ คำที่ 3 คือ "การตัดสินใจ" หากตัดการตัดสินใจของคนออกไปได้ก็จะสามารถแก้คอร์รัปชันได้ แต่ให้คนคิดว่าหากเราทำตามกติกาได้ ก็จะสามารถได้ผลลัพธ์นั้นเอง

 

อะไรคืออุปสรรคในการแก้คอร์รัปชัน

 

นายชุมพล กล่าวว่า ในอดีตการเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ แต่พรรคกลางไม่ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เรามองว่าเราเป็นตัวแทนของประชาชนคนทั้งประเทศ ฉะนั้นในอนาคตเราอาจไม่ต้องมีพรรคการเมืองได้ แต่ประชาชนอาจมีสิทธิ์โหวตตรง ประชาธิปไตยโดยตรงตัดสินใจได้เลย

 

 

นายนิกร กล่าวว่า แก้คอร์รัปชันไม่ได้ เพราะไม่รู้ปัญหาจริง เราต้องศึกษาว่าคอร์รัปชันลดลงมาได้อย่างไร ควรเปลี่ยนที่ความคิด เช่น คอร์รัปชันคนนี้ทำ เราก็ต้องทำ เปลี่ยนให้คอร์รัปชันที่คนยอมรับได้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ การแก้คอร์รัปชันต้องมีสิ่งมาเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นตัวขับเคลื่อน เพราะสังคมไทยเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การให้ของขวัญของคนไทยไม่ใช่คอร์รัปชัน แล้วมันจะพัฒนาไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นคอร์รัปชัน

 

สิ่งที่ต้องทำ คือสังคมต้องจับจ้องมูลค่าในการคอร์รัปชัน ต้องสูญเสียความรู้สึก ลูกต้องถูกตราหน้าว่ามีพ่อเป็นคนคอร์รัปชัน

 

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ประชาธิปัตย์ลงมือแก้คอร์รัปชันมานานแล้ว โดยเสนอกฎหมายยกเลิกอายุความคดีทุจริต แต่หลัง ครม.เห็นชอบการผ่านกฎหมายต้องผ่านหน่วยงานต่างๆ ซึ่งใช้เวลานานจนรัฐบาลหมดวาระ จึงทำให้การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ไม่สำเร็จ การแก้ปัญหาต้องมีการยกเลิกการขาดอายุความ และนับความผิดตั้งแต่วันแรกที่ตรวจพบ

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 2540 มี ป.ป.ช.ขึ้นมา ซึ่งเป็นความหวังของคนไทย แต่ปรากฏว่า ป.ป.ช.ที่ออกแบบมาเพื่อจับฉลาม จับวาฬ กลับต้องไปจับปลาซิว ทำให้งานล้นมือ ดังนั้น ต้องมีการแบ่งเบาภาระจาก ป.ป.ช. จนในช่วงหลังมี ป.ป.ท.ขึ้นมา แม้จะมีทั้ง 2 ส่วนนี้ แต่ประชาชนยังต้องเสียเงินอยู่ในการติดต่อราชการ วิธีแก้ คือประชาชนไม่จำเป็นต้องไปติดต่อราชการด้วยตนเอง แต่ติดต่อผ่านออนไลน์ ต้องมีการสนับสนุนสังคมไร้เงินสด เพราะการทุจริตไม่สามารถทำได้ หากมีหลักฐาน คนมีอำนาจรัฐมีรายได้ไม่เพียงพอก็ต้องหาเงินมา แต่ปัจจุบันค่าใช้จ่ายของบุคลากร 30% หากจะเพิ่มมากว่านี้งบประมาณไม่เพียงพอ ควรลดข้าราชการให้เล็กลงแต่มีประสิทธิภาพ

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า ระบอบอุปถัมภ์ คือต้นตอของการทุจริตคอร์รัปชัน จึงต้องทำลายระบอบนี้ เนื่องจากคอร์รัปชันเป็นวงจรที่เอื้อต่อกันหมด การทุจริตคอร์รัปชัน ถูกใช้เป็นเป้าในการโจมตีทางการเมือง มากกว่าการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันจริง

 

จะแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างไร และจะยอมรับการตรวจสอบได้หรือไม่

 

นายชุมพล กล่าวว่า พรรคกลางไม่ได้มีเบื้องหลังหรือนายทุน ซึ่งเป็นต้นเหตุในการทุจริต สำหรับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน เป็นเรื่องของค่านิยม ซึ่งต้องแก้ในส่วนนี้ ขณะที่ในอดีตมีการรณรงค์เรื่องเพลงตาวิเศษ แม้จะเป็นการรณรงค์เรื่องการทิ้งขยะ แต่ก็ทำให้เกิดกระแสว่าการทิ้งขยะเป็นสิ่งที่ไม่ดีจนทำให้เกิดความละอาย

นายนิกร กล่าวว่า สังคมใส่ใจเรื่องการทุจริตมากขึ้น จุดสำคัญ คือฝ่ายการเมืองอย่าไปทุจริตเอง หากทุกฝ่ายร่วมมือกันจะทำการคอร์รัปชันดีขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าจะแก้ได้ภายในวันเดียวต้องช่วยกันทุกด้าน 

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า คอร์รัปชันเป็นเหมือนชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเพิกเฉยไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญ คือเกิดจากการไร้สำนึกของคน โดยเฉพาะในเด็กที่ทุกวันนี้เริ่มหย่อนยาน ผู้ใหญ่ต้องมองว่าต้องสร้างเด็กมาเพื่อทดแทนผู้ใหญ่ในอนาคต ให้เด็กรู้สึกว่าคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ไม่ดี แม้จะเป็นนโยบายระยะยาวแต่ต้องทำให้ได้ ต้องปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ ทั้งการจัดซื้อจัดจ้างในทุกระดับ และการทุจริตรายรับ ต้องมีการตรวจสอบเงินในการสร้างทางด่วนของรัฐ ไม่เคยมีใครตรวจสอบ มีรายรับพอสำหรับงบประมาณรอบหน้าหรือไม่

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า การทุจริตเกิดในวงราชการและภาคธุรกิจอย่างกว้างขวาง ซึ่งพรรคการเมืองต้องมีเจตนารมณ์ที่จะแก้ปัญหาอย่างแน่วแน่ และต้องมีองค์ความรู้ในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ ต้องมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ขณะที่ปัจจุบันหน่วยราชการมีอำนาจมาจากรัฐบาลที่ยึดอำนาจ ซึ่งพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามามีไม่กี่คน ขับเคลื่อนแก้ปัญหาไม่ได้ ดังนั้น ต้องมีประชาชนหนุนหลัง

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า การปราบปรามทุจริตต้องให้ประชาชนตรวจสอบ ไม่ใช่ให้แค่อำนาจหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เช่น เว็บไซต์ของ ป.ป.ช.ไม่มีการอัพเดตมาตั้งแต่ปี 2557 และมีการให้ข้อมูลเป็น PDF ไม่สามารถทำเป็น Excel ทำให้ตรวจสอบได้ยาก ดังนั้น รัฐบาลต้องมีการเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บข้อมูล เปิดเผยให้ประชาชนตรวจสอบได้ง่าย

 

ทำอย่างไรให้ปลอดนายทุน เพื่อแก้คอร์รัปชัน

 

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า คอร์รัปชันเชิงนโยบาย คือการใช้อำนาจโดยมิชอบ คือการออกกฎหมายเพื่อเอื้อต่อนายทุน เช่น พ.ร.บ.ข้าว ที่ออกมาเพื่อเอื้อนายทุน ไม่ได้คิดถึงชาวนาเลย อนาคตใหม่จะแก้กฎหมายที่ออกมาเพื่อฮั้วกัน โดยผลักดันในสภา แม้ว่าพรรคจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ก็จะต้องเปลี่ยนแปลงประเทศ

 

 

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า เมื่อรัฐออกกฎหมายมักจะมีคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ดังนั้น รัฐบาลและสภาต้องมีการจัดสรรประโยชน์ ถามว่าถ้ารัฐบาลจะทุจริตเชิงนโยบายใครจะตัดสิน ต้องเปิดให้ประชาชนมาตัดสิน ที่ผ่านมา ประชาชนไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะ สนช.ไม่เหมือนสภาผู้แทนราษฎร จนเป็นสาเหตุของปัญหาจากกฎหมายหลายฉบับในปัจจุบัน

 

ผ่านกฎหมายเพื่อเอื้อนายทุน มีหลายเส้นทาง โดยยกเหตุผลที่ฟังแล้วมีเหตุผล แต่บางนโยบายอาจมีการผูกขาด และสร้างผลประโยชน์ ซึ่งบางรัฐบาลอาจรู้ไม่ทัน ทำให้ต้องยอมรับว่าปัจจุบันไทยมีการผูกขาดจำนวนมาก

 

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า การทุจริตเชิงนโยบาย คือการกำหนดนโยบายโดยรัฐที่ตั้งใจกำหนดให้มีคนได้ประโยชน์มาก ซึ่งส่วนนี้ต้องอยู่ที่จิตสำนึกของพรรคการเมืองและผู้บริหารพรรค เมื่อเกิดการทุจริตเชิงนโยบาย เราไม่สามารถห้ามได้ เพราะเราไม่รู้ สุดท้าย คนชี้คือศาล ซึ่งเป็นความผิดอาญา สิ่งที่ต้องทำ คือเสนอกฎหมาย เปิดให้ประชาชนตรวจสอบ มีหลักฐานแล้วนำสู่ศาลเพื่อให้ศาลชี้ขาด แต่วันนี้ประชาชนไม่มีโอกาส เพราะไม่ถือว่าประชาชนเป็นผู้เสียหาย

นายนิกร กล่าวว่า คอร์รัปชันเชิงนโยบายเป็นเรื่องการเมือง ต้องมีการออกกฎหมาย และให้ สตง.ตรวจสอบ แล้วเอาเข้าสภา เราต้องเชื่อในระบบการเมืองว่าการตรวจสอบทางการเมืองจะช่วยได้ มีฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ให้กลไกการเมืองจัดการกันเอง การอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมถึงกระทู้จะช่วยแก้ไขคอร์รัปชันเชิงนโยบาย ปัญหาของระบบทุนในประเทศไทยน่ากลัวกว่าที่อื่นเพราะให้หมด ประชาชนต้องเชื่อระบบการเมือง อย่าเชื่อว่าระบบอื่นจะช่วยได้ เพราะการคอร์รัปชันเชิงนโยบายมันซับซ้อนมาก

นายชุมพล ระบุว่า หากปล่อยให้การเมืองจัดการเอง การทุจริตจะวนเวียนอยู่แบบนี้ ดังนั้น ประชาชนจะเป็นคำตอบในการแก้ปัญหา ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นส่วนสำคัญในการขจัดนโยบายที่มีประโยชน์ต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

 

พรรคมีนโยบายการปฏิรูปราชการและการกระจายอำนาจอย่างไร

 

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ และคืนอำนาจให้ท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นได้เติบโต โดยแก้โครงสร้างอำนาจ ยืนยันว่าการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ได้ช่วยอะไร เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ยังไม่มีอำนาจและงบประมาณ ควรยกการปกครองแบบพิเศษ เช่น แม่สอด ภูเก็ต การจัดการงบประมาณ ควรเพิ่มงบประมาณเป็น 50-50 ส่วนกลาง – ท้องถิ่น รายได้เกิดที่ไหน ใช้ที่นั่น ส่วนที่ 3 จัดตั้งสภาพลเมือง เพื่อตรวจสอบการทุจริต

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ต้องปฏิรูปส่วนราชการ ลดภาระให้เหลือเพียงงานที่จำเป็นจริงๆ จึงจะได้งานที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยีช่วย แล้วจะสามารถแยกแยะได้ว่าควรแบ่งงานส่วนใดให้ท้องถิ่น ควรมีการจัดการกับราชการส่วนภูมิภาคซึ่งไม่มีความจำเป็น และควรกระจายอำนาจส่วนกลางที่ไม่จำเป็นไปให้ท้องถิ่น ใช้งบประมาณนำ และให้อำนาจตามไป เช่น ตำรวจ เป็นส่วนกลางทั้งหมด แต่ท้องถิ่นควรมีตำรวจในการทำหน้าที่ และมีการทานอำนาจ ตรวจสอบซึ่งกันและกัน

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า การปฏิรูประบบราชการ เน้นการให้บริการประชาชน เช่น โรงพยาบาล ต้องมีการปรับปรุงให้บริการประชาชนได้สะดวก รวดเร็วมากขึ้น อีกส่วนคือการใช้อำนาจรัฐ ต้องลดทอนการใช้อำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจประชาชน

นายนิกร กล่าวว่า ข้าราชการเป็นผู้รับใช้ประชาชน แต่สังคมไทย พ่อแม่คิดว่าส่งลูกไปเป็นข้าราชการ คือไปเป็นนาย ดังนั้น ต้องมีการปรับเปลี่ยนความคิด และปรับระบบราชการ ให้ประชาชนเข้าถึงได้

นายชุมพล กล่าวว่า ต้องปฏิรูปที่ระบบ คือประสิทธิภาพ คือเรื่อง KPI เพื่อตอบประชาชน ให้ตรวจสอบได้ และประสิทธิภาพการเก็บข้อมูล ไม่มีข้อมูลมาวิเคราะห์ได้เพียงพอ การสร้างจิตวิญญาณบริการประชาชน และสุดท้าย คือการมีส่วนร่วมของประชาชน การจายอำนาจ หน้าที่ และงบประมาณ การกระจายอำนาจต้องให้อิสระ หน้าที่ส่วนกลางเล็กลงท้องถิ่นใหญ่ขึ้น หมุนเวียนกันทำงาน และกระจายงบประมาณ VAT ตัดเข้าท้องถิ่น

 

มีแนวทางบริหารงานอย่างไรให้เปลี่ยนผ่านอำนาจสู่ท้องถิ่นได้อย่างราบรื่น



น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า รูปธรรมสำคัญ คือต้องกำหนดในรัฐธรรมนูญว่าไทยเป็นรัฐเดี่ยวแบบกระจายอำนาจ และต้องทำให้ราชการภูมิภาคหายไป การเปลี่ยนผ่าน คือการค่อยๆ เพิ่มอำนาจ คน และงบประมาณให้ท้องถิ่น ค่อยๆ ถ่ายโอนส่วนภูมิภาคสู่ท้องถิ่น ส่วนไหนต้องกลับสู่ส่วนกลางก็กลับไปส่วนกลาง จะเหลือเพียง 2 ส่วนเท่านั้น

นายนิกร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่มีคำว่ากระจายรายได้แม้แต่คำเดียว โดยนโยบายของชาติไทยพัฒนา คือต้องให้ 10 ล้านบาทสำหรับท้องถิ่นที่ขาดแคลน พื้นที่พิเศษ ต้องมีการปกครองแบบพิเศษ โดย 70% ของปกครองส่วนท้องถิ่นเอาตัวไม่รอด ทำให้ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าไม่สามารถช่วยเหลือได้ การให้งบฯ 10 ล้านบาททำให้ท้องถิ่นแข็งแรง โดยเอามาจากการเก็บภาษี

 

 

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า การกระจายอำนาจ คือต้องกระจายการบริหารจัดการ และงบประมาณ โดยดูว่าท้องถิ่นนั้นๆ มีความพร้อมในการบริหารท้องถิ่นด้วยตนเองหรือไม่ ทั้งในการบริหารจัดการบุคลากร และงบประมาณ จากนั้นต้องมีการออกกฎหมาย เพื่อให้การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

อย่างในกรุงเทพฯ ที่มีการบริหารจัดการตนเอง มีการจัดเก็บภาษีเอง แต่ต้องมีการศึกษาว่ามีความพร้อมหรือไม่

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการกำหนดว่าสมาชิกต้องมาจากประชาชน แต่ราชการส่วนภูมิภาคเป็นการแต่งตั้งจากส่วนกลาง ประชาชนไม่มีสิทธิบอกว่าจะให้ใครเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด คนที่มาจากประชาชนโดยแท้จริงจะรับฟังประชาชนมากกว่า และสายตรงได้ทันที หากเป็นคนที่ประชาชนเลือกมาเอง แต่ในปัจจุบันต้องผ่านกระบวนการและหน่วยงานต่างๆ มากมาย

นายชุมพล กล่าวว่า การกระจายอำนาจจากชุมชน เป็นสิ่งที่ควรทำ โดยการสร้างประชาคมหมู่บ้าน และเน้นประชาธิปไตยทางตรง ให้ได้พูดคุยปัญหา และเสนอไปเพื่อแก้ปัญหาโดยตรง

 

มีแนวทางส่งเสริมการเป็นพลเมืองได้อย่างไร ให้พร้อมกับการกระจายอำนาจ

  

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ปัญหาในวันนี้ คือการศึกษา ที่จะให้ประชาชนได้ความรู้ในด้านต่างๆ มีน้อยมาก ดังนั้น รัฐต้องส่งเสริมการศึกษาให้ประชาชนในท้องถิ่น

นายนิกร กล่าวว่า สิทธิเป็นของประชาชน และถูกเบียดบังไป แต่ปัจจุบันเราต้องเอาสิทธิไปคืนให้ประชาชน ดังนั้น ผู้มีอำนาจไม่ว่าจะชอบหรือไม่ อำนาจจะกระจายไปสู่เจ้าของเสมอ เพราะฉะนั้นต้องให้งบประมาณและผลักดันจากด้านล่างขึ้นสู่ข้างบน

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า การมีส่วนร่วมขององค์กรส่วนท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญ ที่สามารถทำให้เกิดผลสำเร็จได้ง่าย เพราะคนน้อย และการทำประชามติทำได้ง่ายมากผ่านออนไลน์ การมีส่วนร่วมขององค์กรส่วนท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญ ที่สามารถทำให้เกิดผลสำเร็จได้ง่าย เพราะคนน้อย และการทำประชามติทำได้ง่ายมากผ่านออนไลน์

นายชุมพล ระบุว่า หากได้เข้าไปในสภา พรรคกลางจะสอบถามประชาชนก่อน โดยโหวตและอภิปรายตามเสียงของประชาชน

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า การทำสภาพลเมืองให้ประชาชนมีอำนาจโดยตรงในการตรวจสอบและถอดถอนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ และควรให้ประชาชนโหวตโดยตรง เพื่อจัดการงบประมาณ ออกแบบพัฒนาเมืองด้วยประชาชนเองอย่างแท้จริง 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้ง 2562: การศึกษาไทย "ปฏิรูป" อย่างไรจึงจะสำเร็จ?

เลือกตั้ง 2562: "นักการเมืองรุ่นใหม่" ไม่ใช่แค่สีสัน

เลือกตั้ง 2562: ทิศทางปฏิรูปกองทัพ-ปฏิรูปตำรวจ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง