แพทย์ชี้มีเพศสัมพันธ์ทางปากเสี่ยงเป็น
ข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า การมีเพศสัมพันธ์ทางปากเป็นหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งในช่องปากในผู้ชาย นอกเหนือจากพฤติกรรมสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และกินหมาก เนื่องจากอาจติดเชื้อไวรัส Human Papilloma Virus หรือ HPV สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง
วันที่ 15 มิ.ย. 2558 ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า แม้ยังไม่มีรายงานทางการแพทย์ยืนยันชัดเจนว่าเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก สามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งในช่องปาก แต่มีความเป็นไปที่ผู้มีเพศสัมพันธ์แบบออรัลเซ็กส์จะเป็นมะเร็งในช่องปาก หากเกิดบาดแผลในปากขณะทำกิจกรรมและอีกฝ่ายกำลังติดเชื้อไวรัสดังกล่าว
ทพ.สุธากล่าวว่า การมีเพศสัมพันธ์ทางปากอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งช่องปาก แต่สาเหตุหลักก็ยังมาจากการการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ และรูปแบบมะเร็งช่องปากที่พบมากที่สุดในประเทศไทยคือมะเร็งที่ลิ้น ส่วนใหญ่พบที่ด้านข้างลิ้น โคนลิ้น ใต้ลิ้น รองลงมาคือพื้นช่องปากที่อยู่ใต้ลิ้น เพดานปาก เหงือก กระพุ้งแก้ม และที่พบน้อยสุดคือต่อมน้ำลาย ทั้งนี้ ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติประจำปี 2556 พบว่า คนไทยป่วยเป็นมะเร็งช่องปากมากเป็นอันดับ 6 จาก 10 ขณะที่ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ระบุว่า มะเร็งช่องปากและคอหอยเป็นสาเหตุการตายอันดับ 4 ของผู้ป่วยมะเร็งเพศชาย ดังนั้นอยากให้ทุกคนรักษาสุขภาพช่องปากให้ดี และควรพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งหากพบอาการของโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ ในระยะ 1-2 จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตสูง
"มะเร็งในช่องปากร้ายแรงไม่แพ้มะเร็งบริเวณอื่น ซึ่งถ้าพบในระยะที่ 3 ขึ้นไป จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในหลายด้าน เช่น กลืนอาหารเคี้ยวอาหารไม่ได้เพราะบางรายถูกตัดลิ้นออกครึ่งหนึ่ง แม้แต่การฉายแสงหรือให้คีโมบำบัดก็ทำให้ต่อมน้ำลายถูกทำลาย ผู้ป่วยจะมีสภาวะปากแห้ง ส่งผลให้เกิดแผลและมีเชื้อราในช่องปาก นอกจากนี้ยังทำให้ฝันนิ่มผุกร่อนอีกด้วย” รองอธิบดีกรมอนามัยระบุ
ด้าน นพ.ยงยุทร วศินวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน หู คอ จมูก โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่เชื้อ HPV ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก จะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งในช่องปาก แต่ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางปากต้องมีบาดแผลในช่องปาก และฝ่ายหญิงต้องอยู่ระหว่างการติดเชื้อไวรัส ซึ่งไม่เกี่ยวกับช่วงที่เป็นมะเร็งปากมดลูกแล้ว นอกจากนี้ แม้จะมีเชื้อไวรัสผ่านเข้าทางบาดแผล แต่หากร่างกายแข็งแรงก็สามารถกำจัดเชื้อโรคได้ก็จะไม่เป็นโรคมะเร็งช่องปาก
"แต่เพราะไม่สามารถทราบได้ว่าอีกฝ่ายติดเชื้อไวรัส HPV หรือไม่ ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งช่องปากก็ยังคงมีอยู่ จึงควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก หรือใช้น้ำยาบ้วนปากทุกครั้งหลังมีเพศสัมพันธ์ทางปากก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้" นพ.ยงยุทรกล่าว