วันนี้ (11 มี.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ร่วมกับ "เพื่อไทย" เนื่องจากยังถูกครอบงำ และไม่ร่วมกับ "พลังประชารัฐ" หากมุ่งสืบทอดอำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ได้ทวีตข้อความระบุว่า จุดยืนของพรรคเพื่อไทยในการร่วมรัฐบาลชัดเจนมากค่ะ คือ ‘เอาลุงคืนไป เอาเงินในกระเป๋ากลับคืนมา’
หมดเวลาสำหรับการเมืองที่ไม่มี ‘จุดยืน’ ที่ชัดเจน เหมือนกับบางพรรค ที่ตอนเช้าไม่เอาลุง แต่ตอนบ่ายเอาพรรคที่สืบทอดอำนาจลุง #หมดเวลานักการเมืองดัดจริตต่อชีวิตเผด็จการ
ในสภาวะการเมือง 3 ก๊ก 3 ขั้วแบบนี้ ประชาธิปัตย์คิดอะไรอยู่ อาจจะประเมินได้ว่า มีทางเลือกสำหรับประชาธิปัตย์ 2 ทางที่เป็นไปได้คือ
ทางแรก คือ เพื่อไทยและกลุ่มพรรคที่เรียกตัวเองว่า ประชาธิปไตย ได้คะแนนมากที่สุด แต่ไม่พอตั้งรัฐบาล เพราะประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐไม่มาจับด้วย โอกาสเป็นของพรรคอันดับ 2 คงเป็นการแข่งขันกันระหว่างประชาธิปัตย์กับพลังประชารัฐ
หากประชาธิปัตย์มาอันดับ 2 ต้องการตั้งรัฐบาลหลังจากเพื่อไทยตั้งไม่ได้ จังหวะนี้ต้องอาศัยพลังประชารัฐมาร่วมด้วย หากได้พลังประชารัฐ โอกาสจะได้เสียง ส.ว.250 เสียงด้วยก็สูง แต่มีเงื่อนไขว่าต้องยกมือให้นายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี หากพลังประชารัฐยอม พล.อ.ประยุทธ์ ก็ตกไป ในส่วนนี้จึงอาจเป็นสัญญาณจากนายอภิสิทธิ์ ที่บอกว่า หากพลังประชารัฐไม่สืบทอดอำนาจแล้ว ก็ร่วมงานกันได้
ความเป็นไปได้ที่ 2 ต่างกันเล็กน้อย คือ พลังประชารัฐ เป็นอันดับ 2 ต้องการประชาธิปัตย์ที่เป็นอันดับ 3 โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ แต่นายอภิสิทธิ์ ประกาศไว้แล้วว่าไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แล้วการเมืองจะเดินต่ออย่างไร
รศ. สุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ประเมินถึงวันที่ประชาธิปัตย์ต้องเลือกไว้ว่า จากประวัติศาสตร์ นายอภิสิทธิ์แพ้เลือกตั้ง แล้วแสดงสปิริต คือ ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคทุกครั้ง แต่ผมคิดว่าคราวนี้ถ้าลาออกอาจจะไม่ได้กลับ คนตัดสินอาจจะไม่ใช่นายอภิสิทธิ์ แต่อาจมีหัวหน้าพรรคคนใหม่ขึ้นมาเพื่อนำพรรคต่อไป หากสังเกตคำพูดของนายอภิสิทธิ์มองว่า ประชาธิปัตย์มุ่งที่จะเป็น 1 ของพรรคฝั่งตรงข้ามเพื่อไทย ซึ่งหากได้เป็นผู้นำแล้ว พลังประชารัฐก็อาจจะมาร่วมด้วย