เลือกตั้งครั้งนี้ ห่างจากเลือกตั้งปี'54 รวม 8 ปี และทิ้งห่างจากรัฐประหารปี'57 5 ปี วาทกรรม-คำคม ยอดฮิตช่วงหาเสียง หนีไม่พ้นการพูดถึงบุคคล ทั้งแคนดิเดตนายกฯ คนแดนไกล และความขัดแย้ง รวมถึงขั้วการเมืองแบบแบ่งพรรค-แบ่งฝ่าย ไม่เฉพาะในหมู่ชาวบ้าน แต่รวมสื่อมวลชน-นักวิชาการด้วย
ยกตัวอย่าง พลังประชารัฐ ติดที่ปมถูกวิจารณ์สืบทอดอำนาจ 250 ส.ว. และการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อดันแคนดิเดตนายกฯ, เพื่อไทย ผูกปมที่คนแดนไกล นโยบายที่เคยถูกพิพากษาว่าทุจริต และความขัดแย้ง
ประชาธิปัตย์ ผู้เป็นตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาล และพรรคขนาดกลางที่ดูเหมือนจะเนื้อหอมไม่พ้นคำวิจารณ์พอๆ กัน
พื้นที่ของนโยบายนั้นมีพื้นที่ แต่ "key message" ที่ส่งออกไป กลับไม่ใช่วิธีการหรืองบประมาณที่จะใช้และทำได้จริง! แต่กลายเป็นวาทกรรม คำคมๆ –หรือไม่ก็คำที่ถูกค่อนขอด
ยกตัวอย่าง ประชาธิปัตย์ ส่งนโยบาย “เกิดปั๊บรับแสน” และประกันราคาพืชผลการเกษตร , ภูมิใจไทย ส่งนโยบายกัญชาเสรี , เพื่อไทย แทบจะจำนโยบายชัดๆ ไม่ได้ แต่จำแคมเปญ “เอาลุงคืนไป เอาเงินในกระเป๋าคืนมา” ได้แม่นกว่า
พลังประชารัฐ ปล่อยนโยบายชนประชาธิปัตย์ ชื่อ มารดาประชารัฐ และปล่อยหมัดเด็ดช่วงสุดท้ายผ่านการประกันรายได้ขั้นต่ำ ป.ตรี จบใหม่ 2 หมื่น และเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาท ฯลฯ พลันปล่อยออกก็ถูกโยงเข้าสู่สภาวะ “เวเนซุเอลา” ทันที
เรียกได้ว่าหนีไม่พ้นเรื่องการเมือง
การใช้ “นโยบาย” มาเป็นตัววัดการตัดสินใจของคนผ่านการเลือกตั้ง ยังไม่พบไม่เห็นว่าเป็นจริง แต่สิ่งที่หนีไม่พ้นคือเรื่อง “คน” และเรื่อง “พรรค” ซึ่งผูกโยงกับขั้วอุมการณ์ทางการเมือง
จนถึงบรรทัดนี้ “ท่านผู้ชม” อาจคิดว่ามีแต่แง่ร้าย แต่ไม่ทั้งหมดเสียทีเดียว เพราะแม้แต่โลกเสรีประชาธิปไตย อย่างที่มักอ้างถึงดินแดนอเมริกา สนามการเลือกตั้งใหญ่ก็มีสภาวะไม่ต่างกัน เรื่องความนิยมของ “คน” และยี่ห้อ “พรรค” ยังเป็นตัวแปรสำคัญ
ไม่อย่างนั้น "ทรัมป์" ยี่ห้อรีพับลิกัน จะเอาชนะ “ฮิลลารี” ยี่ห้อเดโมแครต ผ่านการช่วงชิงคะแนนเสียงประชาชนในรัฐที่ยัง “ก้ำกึ่ง” ไม่ตัดสินใจไปขั้วใดชัดเจน ว่ากันว่าเพียงชั่วข้ามคืน "ทรัมป์" เลือกทวิตข้อความแทงใจดำของคนบางรัฐ (state) ที่ยังไม่เทใจให้ใครร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ชิงคะแนนได้
แต่ "นโยบาย" ของพรรคการเมืองที่เคยเป็นรัฐบาล และเคยทำนโยบายที่ไม่ประทับใจประชาชนก็มีผลต่อการตัดสินใจ และ "ถ้อยคำ" ที่ถูกทวิตไปจี้ใจดำตรงจุดนี้
ดังนั้นนอกจากเรื่อง “คน” และเรื่อง “พรรค” เรื่องหลักๆ อย่าง “นโยบาย” ไม่ได้ตัดสินเฉพาะนโยบายที่ขายกันในช่วงหาเสียง แต่นับรวมนโยบายที่เคยทำสำเร็จ-ทำไม่สำเร็จด้วย
สรุปคือนโยบาย “ขายฝัน” ในช่วงนี้อาจไม่ค่อยมีผลเท่าวาทกรรมทางการเมือง แต่นโยบายที่เคยทำแล้วรุ่ง-เคยทำแล้วร่วง มันมีผลนะครับท่านผู้ชม
ไม่มี “นโยบาย” ในการเลือกตั้ง จึงแปลตรงๆ ว่าไม่มีนโยบายที่กำลังขายฝันกันขณะนี้ที่จะใช้วัดใจประชาชน แต่ถ้าเป็นนโยบายที่แต่ละพรรคเคยทำมาแล้ว ประเด็นนี้มีผลอย่างยิ่ง ไม่ว่าพรรคใดที่อ้างเป็นฝ่ายประชาธิปไตย สืบทอดอำนาจ หรืออนุรักษ์นิยม
มันต้องมีซักเรื่องนะครับท่านผู้ชม ที่คนจะนิยมชมชอบใครซักคนหรือพรรคซักพรรค... ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง หรือเรื่องความรู้สึก "ความสงบ-ความขัดแย้ง"
ถ้าสักว่าเคยได้ทำมาแล้วก็ใช้เป็นจุดแข็งได้ทั้งนั้น