วันนี้ (22 มี.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มนิวโหวตเตอร์ และประเด็นโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กลายเป็นตัวแปรใหม่ของการเลือกตั้งใน จ.ฉะเชิงเทรา รอบนี้ โดยเฉพาะเขต 1 กับเขต 4 ที่มีปัจจัยการเทคะแนนเสียง และมีกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอีอีซี สิ่งนี้อาจทำให้ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐที่ถูกมองว่ามีฐานเสียงเดิมที่ว่าหนาแน่นต้องหวั่นไหว
ทั้่งนี้ ถ้าไปดูความตื่นตัวของกลุ่มนิวโหวตเตอร์ และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการอีอีซีในช่วงโค้งสุดท้าย ถือเป็นอีกตัวแปรที่ตัดทิ้งไม่ได้ อย่างวันนี้ มีนักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพา ลงพื้นที่ไปรับฟังสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่เขต 4 ต.เขาดิน อ.บางปะกง ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ใหม่ บลูเทค ซิตี้ สะท้อนถึงความสนใจของนิวโหวตเตอร์ต่อปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนรอบตัวเขาในพื้นที่อีอีซี และมอง
ว่านโยบายมีความสำคัญกับการเลือกตั้ง
สำหรับพรรคไทยรักษาชาติ กับพรรคพลังประชารัฐ มีจุดยืนทางการเมืองต่างกันชัดเจน เขตเลือกตั้งที่ 1 หลังถูกยุบพรรคไทยรักษาชาติ นางฐิติมา ฉายแสง ก็ประกาศเทคะแนนให้พรรคการเมืองอื่น โดยมีคู่แข่งสำคัญอย่างนายบุญเลิศ ไพรินทร์ อดีต ส.ว.และอดีต ส.ส.ปี 2554 ครั้งนี้ย้ายจากพรรคประชาธิปัตย์ มาลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐ แม้จะมีฐานเสียงเดิมอยู่ แต่นิวโหวตเตอร์ที่ยังเดาใจไม่ออก ก็อาจเป็นตัวแปร และไม่ง่ายสำหรับแชมป์เก่าจากพรรคพลังประชารัฐ
เขตเลือกตั้งที่ 2 สจ.ต้อย นายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ ผู้มีฐานการเมืองท้องถิ่นมาตั้งแต่รุ่นพ่อ มาช่วยเสริมทัพในนามพรรคพลังประชารัฐ ท้าชิงกับ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย นายสมชัย อัศวชัยโสภณ ซึ่งเหนียวแน่นทั้งพันธมิตรทางการเมือง และเครือข่ายการเมืองท้องถิ่น แต่สำหรับบ้านใหญ่พนมสารคาม นายสุชาติ ตันเจริญ เขต 3 จากพรรคพลังประชารัฐ คนแปดริ้วยังมองว่าโค่นยาก เพราะไม่ใช่แค่ ส.ส. 8 สมัย แต่ยังมีเครือข่ายทางการเมืองที่แข็งแกร่ง
นอกจากฐานเสียงและพันธมิตรทางการเมืองที่สูสีกัน ผลกระทบจากอีอีซี ก็เป็นอีกตัวแปรสำคัญ เมื่อพรรคพลังประชารัฐเปิดเวทีปราศรัยเมืองแปดริ้วยืนยันเดินหน้าเรื่องนี้เต็มสูบ ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามยืนยันจะปรับแก้กติกา ผลเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่ได้เดิมพันแค่เก้าอี้ ส.ส. 4 เขต แต่ยังเดิมพันไปถึงทิศทางการพัฒนาพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ด้วย