วราวิทย์ ฉิมมณี ผู้สื่อข่าว/ผู้ประกาศข่าว ไทยพีบีเอส วิเคราะห์การจับขั้วของพรรคการเมือง เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ไว้ 3 แบบ
1.
ถ้าพรรคเพื่อไทย+พรรคอนาคตใหม่+พรรคภูมิใจไทย+พรรคชาติไทยพัฒนา+พรรคเสรีรวมไทย+พรรคประชาชาติ+พรรคเศรษฐกิจใหม่ เกิน 250 ไปมาก แต่มีเงื่อนไขคือ พรรคอนาคตใหม่เคยประกาศว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. โดยแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยคือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งอาจสอบตกเพราะพรรคเพื่อไทยไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม แต่พรรคอนาคตใหม่จะกลืนน้ำลายตัวเอง โหวตให้คุณหญิงสุดารัตน์ดีกว่าให้พรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาลหรือไม่ หรือพรรคอนาคตใหม่จะเสนอให้พรรคเพื่อไทยยอมให้นายธนาธร เป็นนายกฯ
พรรคเพื่อไทยจะยอมหรือไม่ทั้งที่ตัวเองได้คะแนนอันดับ 1 (ล่าสุดนายธนาธรออกมาบอกว่า เขาพร้อมเป็นนายกฯ แต่พรรคอนาคตใหม่จะไม่เสนอชื่อ)
ในขณะที่นายอนุทิน อาจยื่นข้อเสนอเป็นคนกลาง ขอเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เอาเก้าอี้รัฐมนตรีอื่นให้พรรค แต่พรรคภูมิใจไทยมีคะแนนมาเป็นอับดับ 3 ในกลุ่มพรรคที่จัดตั้งรัฐบาล อันดับ 1 อันดับ 2 จะยอมได้หรืออย่างไร
2.
ถึงแม้พรรคเพื่อไทยนำจัดตั้งรัฐบาลตกลงกันได้ว่าใครจะเป็นนายกฯ แล้ว ส.ว.อีก 250 เสียงจะโหวตอย่างไร จะโหวตสวนให้พรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่คงถูกกระแสสังคมกดดัน แม้จะทำตามรัฐธรรมนูญ หรือจะโหวตตามยอมเพื่อไทยที่ได้เสียงข้างมาก ถ้างั้น คสช.จะเลือก ส.ว.มาทำไมให้โหวตฝ่ายตรงข้าม
3.
ล่าสุดนายอนุทิน บอกว่า พรรคไหนไม่เอาเสรีกัญชาจะไม่ร่วมรัฐบาล ซึ่งสมาชิกพรรคเพื่อไทยก็เห็นจะมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้
4.
ถ้าพรรคพลังประชารัฐจะตั้งรัฐบาล โดยหาได้เกิน 250 เสียง ต้องอาศัยพรรคร่วมจำนวนมาก เพราะอย่างพรรคเพื่อไทย+พรรคอนาคตใหม่ ก็ปาเข้าไป 215 เสียงแล้ว
แต่พรรคพลังประชารัฐ + พรรคภูมิใจไทย ก็ยังได้แค่ 168 เสียง แม้ได้พรรคประชาธิปัตย์ อีก 53 เสียง ก็ยังได้เพียง 221 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่ชัดว่า เมื่อไม่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค แล้วจะเปลี่ยนข้างง่ายแบบนั้นจริงหรือไม่
พรรคที่อาจจะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐได้ก็มีพรรคชาติไทยพัฒนา กับพรรครวมพลังประชาติไทย ก็ยังได้แค่ 237 ขาดอีก 13 แม้จะหางูเห่าจากบางพรรคได้อีก 13 แต่ถ้าเกิดแบบปริ่มน้ำ เช่น 255 – 260 เสียง รัฐบาลก็เหนื่อย โหวตกันทีคงต้องเข้าห้องน้ำคุยกันที เกิดเปลี่ยนใจ ขัดแย้งกัน มีหวังไม่ไว้วางใจ เลือกตั้งกันใหม่
อ้างอิงตัวเลขไม่เป็นทางการจากการนับคะแนน 94 % เวลา 13.00 น. 25 มี.ค. 62