วันนี้ (29 มี.ค.2562) กรมชลประทานจับตาและวางมาตรการควบคุมการใช้น้ำอย่างเคร่งครัด เน้นใช้เพื่ออุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ขณะนี้มี 5 เขื่อนใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การต่ำกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่าง จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี และเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น
ถ้าเทียบทั้งหมดแล้ว ปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์เหลือน้ำใช้การน้อยที่สุด เพียง 52 ล้านลูบาศก์เมตร หรือแค่ร้อยละ 3 เท่านั้น และหากเป็นไปตามการประเมินของกรมชลประทาน ถ้าไม่มีฝนเติมน้ำเข้ามา น้ำส่วนที่เหลือนี้อาจถูกใช้จนหมดภายในวันที่ 20 เมษายน และมีความเป็นไปได้ว่า ถ้าเข้าตาจนจริง ๆ ต้องดึงน้ำสำรอง ที่เรียกว่าน้ำก้นเขื่อน ที่มีอยู่ 581 ล้านลูกบาศก์เมตร ดึงออกมาใช้ 90 ล้านลูกบาศก์เมตรไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม เพื่อส่งน้ำไปใช้ผลิตน้ำประปา ให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำอุปโภคบริโภค
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ทั้งนี้ 2 ปีผ่านมา เราไม่ได้ใช้น้ำก้นเขื่อนเลย ภัยแล้งครั้งนี้จึงอาจเทียบได้ว่าคล้ายกับปี 2559 ที่ต้องดึงน้ำก้นเขื่อนมาใช้ถึง 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งการใช้น้ำก้นเขื่อนจะไม่กระทบกับโครงสร้างความแข็งแรงของเขื่อนอุบลรัตน์
นายจักรพงศ์ คำจันทร์ ผู้อำนวยการประปาส่วนภูมิภาคเขต 6 ยืนยันว่า การบริหารจัดการน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคจากเขื่อนอุบลรัตน์ไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ อำเภอเมืองขอนแก่นจะไม่ได้รับผลกระทบในการผลิตน้ำประปา โดยค่าเฉลี่ยการใช้น้ำดิบผลิตน้ำประปาในเขตอำเภอเมืองขอนแก่น อยู่ที่ประมาณ 16 ล้านลูกบาศก์เมตร มีผู้ใช้น้ำเกือบ 120,000 คน โดยเจ้าหน้าที่ยังคงเฝ้าระวังคุณภาพน้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมขอความร่วมมือปะชาชนช่วยกันประหยัดน้ำ
ผลการจัดสรรน้ำ ณ วันที่ 29 มี.ค.
กรมชลประทานรายงานผลการจัดสรรน้ำ(อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง) ทั้งประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ถึงวันที่ 29 มี.ค.2562 ใช้น้ําไปแล้ว 18,206 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 79 ของแผนจัดสรรน้ํา ส่วนในเขตลุ่มน้ําเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์แควน้อยฯ ป่าสักฯและลุ่มน้ําแม่กลอง) วันนี้ใช้น้ําไป 44 ล้าน ลบ.ม. ต้ังแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ถึงปัจจุบัน ใช้น้ำไปแล้ว 7,496 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 94 ของแผนจัดสรรน้ำ
แผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2561 / 2562
กรมชลประทาน วางแผนการใช้น้ำจากโครงการชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้งปี 2561/2562 (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 – 30 เมษายน 2562)
ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ปริมาตรน้ำต้นทุนสามารถใช้การได้จํานวน 39,570 ล้าน ลบ.ม. โดยวางแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศจํานวน 23,100 ล้าน ลบ.ม. ตามลําดับความสําคัญดังนี้เพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,404 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 6,440 ล้าน ลบ.ม. เกษตรกรรม 13,953 ล้าน ลบ.ม.และอุตสาหกรรม 303 ล้าน ลบ.ม.
โดยจัดสรรน้ําในลุ่มเจ้าพระยา 8,000 ล้าน ลบ.ม.แยกเป็นเพื่อการอุปโภค – บริโภค 1,140 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 1,450 ล้าน ลบ.ม. และเพื่อการเกษตร 5,410 ล้าน ลบ.ม.