เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้บนอาคารสูง ประชาชนหรือผู้พักอาศัยจะต้องตั้งสติและทำตามแผนหนีไฟ โดย พ.ต.ท.สมเกียรติ นนทแก้ว ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ต้องสังเกตป้ายทางหนีไฟและให้เดินตามที่ป้ายบอกเพื่อออกประตูหนีไฟ รวมทั้งต้องอพยพออกจากพื้นที่เกิดเหตุ หรือทำตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ หรือฟังเสียงกริ่งสัญญาน
หากที่เกิดเหตุมีควันไฟจำนวนมาก ผู้ประสบเหตุต้องก้ม หมอบ คลานออกจากพื้นที่บริเวณนั้น เนื่องจากในควันไฟมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะลอยขึ้นสู่ข้างบน แต่พื้นที่ด้านล่างยังพอมีก๊าซออกซิเจนให้หายใจได้ หรือใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกเพื่อกรองควัน ทั้งนี้ การเปิดกริ่งสัญญานเตือนเหตุเพลิงไหม้ต้องเปิดในจุดเกิดเหตุก่อนเพื่ออพยพคน
ขณะที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ แนะนำวิธีการหนีไฟในอาคารสูง ดังนี้
- ผู้ที่อยู่บนชั้นสูงไม่ควรหนีขึ้นไปบนดาดฟ้า หรือหลังคา แต่ควรทำตามแผนหนีไฟ และอพยพลงสู่ด้านล่างอาคารเสมอ
- ไม่ควรอยู่ในลิฟต์ขณะเพลิงไหม้ เนื่องจากอาจจะมีควันไฟและลิฟต์อาจค้างในชั้นที่เกิดเหตุ
- อาคารสูงจำเป็นต้องสร้างพื้นที่หลบภัยให้ผู้พิการสามารถเข้าไปหลบระหว่างรอเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ
- ผู้ประสบภัยต้องปิดประตูไม่ให้ควันเข้ามาภายในและโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบตำแหน่งของตัวเอง
- ขณะรอเจ้าหน้าที่ให้พยายามทำสัญลักษณ์ให้ผู้อื่นทราบตำแหน่งที่ตัวเองอยู่
- ไม่ทุบกระจก เพราะอาจทำให้เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาช่วยเหลือได้รับบาดเจ็บ หรือสายดับเพลิงขาดได้
- ห้ามกระโดดออกจากหน้าต่างเพื่อหนีไฟไหม้ รวมถึงแนะนำให้อยู่ในชั้นเดิม หรือชั้นที่ต่ำกว่าชั้นที่เกิดเหตุ
- เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ผู้ประสบภัยทำตามแผนหนีไฟฉุกเฉินและรีบออกจากตัวตึกทันที