เมื่อต้นเดือนเมษายน วารสารทางการแพทย์ชื่อดังระดับโลก New England Journal of Medicine ของสมาคมการแพทย์รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์บทความ “Prehospital Care of the 13 Hypothermic, Anesthetized Patients in the Thailand Cave Rescue” หรือการดูแลก่อนถึงโรงพยาบาลของ 13 ผู้ป่วย อุณหภูมิร่างกายต่ำผิดปกติ และได้รับการวางยาสลบในปฏิบัติการกู้ภัยในถ้ำ
บทความนี้เขียนโดยทีมแพทย์ชาวไทย 3 คน และชาวออสเตรเลีย 1 คน คือ พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ ล้อทวีสวัสดิ์ รองเลขาธิการแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, พล.ต.วุฒิไชย อิศระ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช, นพ.กฤษณ์ พงศ์พิรุฬห์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นพ.ริชาร์ด แฮร์ริส
ที่น่าสนใจไม่ใช่เพียงเรื่องราวของสมาชิกทีมหมูป่า อะคาเดมี 13 ชีวิต ที่ผู้คนทั่วโลกต่างลุ้นและเอาใจช่วยกับภารกิจค้นหาและกู้ภัย แต่คือเบื้องหลังการทำงานของทีมแพทย์ การตัดสินใจท่ามกลางภาวะกดดัน เพื่อเลือกแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการลำเลียง 13 ชีวิต ออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 8-10 ก.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกของการกู้ชีวิตคนไข้เด็กจำนวนมากที่สุดของโลก และต้องนำออกมาจากถ้ำท่ามกลางอุณหภูมิน้ำต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส
รายละเอียดของบทความ ระบุว่า นพ.ริชาร์ด แฮร์ริส ตัดสินใจใช้ยาสลบในกลุ่มเคตามีน ด้วยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และการใส่หน้ากากออกซิเจนแบบเต็มหน้าให้กับสมาชิกทีมหมูป่า ซึ่งให้ออกซิเจนได้ 80 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นทีมกู้ภัยทยอยนำทั้ง 13 ชีวิตออกมาจากถ้ำ โดยเด็กคนที่ 2 เกิดภาวะตัวเย็นเกิน หรือไฮโปเทอร์เมีย พบอุณหภูมิของร่างกายลดต่ำ 34.8 องศาเซลเซียส ระหว่างการเคลื่อนย้ายไปยังโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ เล่าว่า การได้ลงตีพิมพ์ใน New England Journal of Medicine ถือเป็นความฝันของนักวิชาการไทยหลายคน เพราะการันตีคุณภาพว่า บทความน่าสนใจและดีพอ ไม่ใช่เพียงเรื่องของการช่วยเหลือทีมหมูป่า
กว่า 5 เดือนที่ผ่านมา ต้องปรับแก้งานเขียนอยู่หลายครั้ง กระทั่งตีพิมพ์แล้วจึงมีสำนักข่าวทั้งในและต่างประเทศนำไปเขียนข่าว ทำให้บทความทางวิชาการนี้ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ไม่ใช่แค่การกู้ภัยในไทย แต่เป็นแผนเผชิญอุบัติภัยที่ใช้ได้ทั่วโลก อีกหนึ่งสิ่งสำคัญ คือ พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและให้อิสระในการตัดสินใจของผู้ที่กำลังเผชิญเหตุ พร้อมพระราชทานสิ่งของ ถังออกซิเจน โรงครัวพระราชทาน และประชาชนจิตอาสา
ความบังเอิญ หรือโชคชะตา
แม้อยู่ระหว่างใส่เหล็กด้ามขา หลังเข้ารับการผ่าตัดอาการบาดเจ็บขาได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ แต่ พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ ตัดสินใจทันทีที่จะเป็นส่วนเล็กๆ ในปฏิบัติการครั้งนี้ เขาอาสานำส่งความช่วยเหลือไปถึง 13 ชีวิต และเจ้าหน้าที่หน่วยซีลที่ดำน้ำค้นหาภายในถ้ำ หลังชมรายการพิเศษทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2561 ว่า เพจ Thai Navy SEAL ร้องขอ Emergency Foil Blanket หรือผ้าห่มฉุกเฉิน
พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ เล่าว่า เข้าไปมีส่วนร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ด้วยความบังเอิญ และเดินทางสู่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน เวลา 23.00 น. ของวันเดียวกัน โดยมอบผ้าห่มฉุกเฉิน 100 ชุด และแท่งเรืองแสงอีก 50 ชุด ให้กับ พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน พร้อมเป็นตัวแทนแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เพื่อให้กำลังใจทีมแพทย์ ซึ่งทันเวลากับที่ทั่วโลกได้ทราบข่าวดีในคืนวันที่ 2 ก.ค.2561 โดยนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ยืนยันว่าพบทั้ง 13 ชีวิต บริเวณเนินนมสาว ห่างจากพัทยาบีช 400 เมตร
สูญเสีย “จ่าแซม”
กระทั่งวันที่ 6 ก.ค.2561 ผู้คนทั่วโลกที่ติดตามภารกิจครั้งนี้ตกอยู่ในความโศกเศร้า เมื่อทราบข่าว จ.อ.สมาน กุนัน หรือ จ่าแซม อดีตหน่วยซีล เสียชีวิตขณะที่กำลังลำเลียงขวดอากาศ จากโถง 3 ไปสามแยกภายในถ้ำหลวง
พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ แสดงความเสียใจไปยัง พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือหน่วยซีล พร้อมประสานกับ พ.อ.กิติพันธ์ เฮงสนั่นกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราช จ.เชียงราย ระดมหาเครื่องกระตุกหัวใจ (AED) จากในพื้นที่เพื่อรองรับกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากการใช้ผ้าห่มฉุกเฉินอาจไม่เพียงพอ หากเกิดภาวะตัวเย็นและหัวใจหยุดเต้น
เบื้องหลังภารกิจ “ทีมแพทย์” กู้ภัยถ้ำหลวง
พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ กลับมาร่วมภารกิจกู้ภัยในวันที่ 2 หรือวันที่ 9 ก.ค.2561 เพื่อแก้ปัญหาภาวะไฮโปเทอร์เมีย โดยใช้ประสบการณ์ในการกู้ชีวิตเด็กและผู้ใหญ่ เนื่องจากไทยยังมีการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับไฮโปเทอร์เมียไม่มากนัก และทหารส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับภาวะฮีทสโตรกจากอากาศร้อนมากกว่า
สำหรับภารกิจกู้ภัยครั้งนี้ใช้แพทย์ 50 คน รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลอื่น ๆ มากกว่า 100 คน โดยเฉพาะในถ้ำจนถึงโรงพยาบาลสนามแพทย์ ส่วนใหญ่จบจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า หมุนเวียนกันทำหน้าที่ด้วยความเชื่อใจและให้เกียรติกัน
แพทย์พี่น้องพระมงกุฎ ทุกคนได้รับการฝึกและปฏิบัติร่วมกันตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนแพทย์ทหาร จึงปฏิบัติภารกิจอย่างรวดเร็วโดยไม่ตั้งคำถาม ทำหน้าที่ด้วยความเชื่อใจและให้เกียรติกัน สมดั่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเมตตาให้ก่อตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งนี้
จากการประเมินภารกิจในวันแรก ผู้บังคับบัญชาระบุว่า อยากให้แก้ไข workflow มีการซักซ้อมอย่างดีให้มีประสิทธิภาพรวดเร็วมากขึ้น และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่รายงานว่าเด็กคนที่ 2 มีอุณหภูมิต่ำเมื่อไปถึงโรงพยาบาล นำไปสู่การมอบหมายภารกิจจาก พล.ต.วุฒิไชย อิศระ ในฐานะผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของภารกิจกู้ภัย และเป็นผู้ร่วมให้คำแนะนำในบทความฉบับนี้
พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ เริ่มเขียน Protocol ABC+H ในกระดาษเพื่อให้ทุกคนในทีมได้รับทราบขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ รวมทั้งการแบ่งหน้าที่ชัดเจน เพื่อให้ Workflow กระชับรวดเร็ว และการแบ่งหน้าที่ประเมินประเด็นสำคัญที่สุดในการกู้ชีพโดยแพทย์เฉพาะทางที่เชี่ยวชาญ ทั้งด้านระบบทางเดินหายใจ การช่วยหายใจ ด้านหัวใจ และไฮโปเทอร์เมียโดยวิสัญญีแพทย์ รวมทั้งขั้นตอนสำคัญที่จุดคัดแยกอาการตามสี เช่น สีแดงสำหรับเด็กที่ต้องรักษาเร่งด่วนเพราะมีอันตรายถึงชีวิต สีเหลืองสำหรับเด็กที่ต้องรักษาและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
"หนุ่ม ๆ ลืมตา อ้าปาก" ผมจะกระตุ้นด้วยเสียงดัง เพื่อประเมินอาการของเด็กแต่ละคนและให้เขาทำตามที่บอก เมื่อขานว่า “ปากแดง” ไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ทีมที่ 2 จะเข้ามาดูแลเด็กต่อทั้งการถอดชุดเว็ทสูท โดยทีมซีลที่ชำนาญและทีมแพทย์ที่จะประคองต้นคอก่อนจะเคลื่อนย้ายเข้าไปในจุดให้การรักษาจนอาการคงที่ และส่งต่อโรงพยาบาล
ทุกคนตื่นหมด ผมถึงยอมให้ไปโรงพยาบาล ที่ทำมากกว่านั้นคือดูเรื่องอุบัติเหตุ ตรวจสอบกระดูกต้นคอ ให้เด็กทุกคนยกคอขึ้นมา
วันที่ 3 มีแผนจะลำเลียงเด็กออกพร้อมกันทั้งหมด 5 คน ใช้เวลา 5 ชั่วโมง เนื่องจากวันที่ 2 นำเด็กออกมาได้อย่างต่อเนื่อง และจัดระเบียบการทำงานให้ชัดเจน ทุกคนรู้หน้าที่และซ้อมเป็นอย่างดี วันนี้จึงเป็นภารกิจช่วยเด็ก ๆ ออกมามากที่สุด รวมทั้งเด็กตัวเล็กที่สุด ที่ทุกคนเป็นห่วงว่าชุดดำน้ำและหน้ากากจะไม่พอดี ผมจึงเน้นทุกอย่างที่ต้องใช้จริงสำหรับเด็กคนนี้ เพราะทุกคนในทีมต้องเตรียมพร้อมทุกอย่างที่ใช้จริงแบบนาทีต่อนาที ถือเป็นวันที่ทีมแพทย์ต้องเผชิญบททดสอบที่ยากที่สุด “High Risk & Hihg Volume”
ตอนแรกไม่รู้ว่าใครจะมา อาจจะมาพร้อมกันหมด จะจัดการยังไงให้ทุกคนได้รับการดูแลแบบเดียวกัน ต้องนำเตียงมาเพิ่ม ละลายพฤติกรรมไม่มีเต็นท์แดง เหลือง ทุกคนต้องทำหน้าที่ได้ดีหมด
วันที่ 3 นอกจากเด็กที่ตัวเล็กที่สุดแล้ว ยังพบว่าคนแรกที่ส่งมาถึงโรงพยาบาลสนาม มีอุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส ถือว่ามีภาวะไฮโปเทอร์เมียมากที่สุดในภารกิจนี้ แพทย์จึงแก้ไขอุณหภูมิภายใน ด้วยการให้น้ำเกลือที่อุ่นเตรียมไว้แล้ว ที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส และแก้ไขอุณหภูมิภายนอกด้วยผ้าห่มพิเศษสำหรับเพิ่มอุณหภูมิเข้าสู่ร่างกาย ควบคู่กับผ้าห่มฉุกเฉินที่เด็ก ๆ เคยใช้ในถ้ำ โดยห่อตัวป้องกันสูญเสียความร้อนระหว่างการเคลื่อนย้ายด้วยเฮลิคอปเตอร์
นอกจากนี้ในบทความยังระบุถึงการใช้อุปกรณ์ที่พอจะหาได้ในข้อจำกัด เช่น ใช้ไดร์เป่าผม สำหรับเป่าผมที่เปียกชื้นและปลายนิ้ว เพื่อให้การวัดออกซิเจนทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งพยาบาลทำหน้าที่บันทึกสัญญาณชีพและวัดอุณหภูมิเด็กทุก 5 นาที เพื่อประเมินและป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการแก้ไขภาวะไฮโปเทอร์เมีย
เมื่อเดินทางไปถึงโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ พบว่าในวันที่ 3 ไม่มีเด็กที่อุณหภูมิต่ำเลย เนื่องจากทีมแพทย์ทำทุกขั้นตอนอย่างรวดเร็ว เปรียบเหมือนการ “เข้าพิท” ของรถฟอร์มูล่าวัน ทุกคนต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง ทำตามความสามารถของแพทย์เฉพาะทางแบบนาทีต่อนาที รวมทั้งสื่อสารได้ดีตลอดทาง ตั้งแต่รับมาที่จุดคัดแยกจนเข้าถึงจุดให้การรักษา กระทั่งอาการคงที่และเคลื่อนย้ายเพื่อส่งต่อโรงพยาบาลปลายทาง
ขั้นตอนไหนยากที่สุด
แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงเริ่มต้น นพ.ริชาร์ด แฮร์ริส ให้ยาอะโทรปีน (Atropine) และเคตามีน (Ketamine) ในการสลบและหลับ ใส่หน้ากากให้ฟิต จนแน่ใจว่าทุกอย่างปลอดภัยและส่งต่อเคฟไดรเวอร์ ซึ่งทำหน้าที่ได้ดีมากตั้งแต่โถง 9 มายังโถง 3 พอพ้นน้ำมาพบทีมกองทัพเรือที่มีความชำนาญในการดำน้ำ เพราะโถง 3 ถึงโถง 2 ต้องดำน้ำออกมา
ส่วนลำเลียงมาโถง 2 เป็นพื้นที่สูงชัน เด็กต้องอยู่ในเปลและลำเลียงผ่านสลิง จนมาถึงโถงที่ 1 และปากทาง โดยประเมินความพร้อม เช็กอุณหภูมิร่างกาย การหายใจ ปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อพบว่าปลอดภัยเพียงพอ จะเร่งนำส่งมาที่ปากถ้ำ และขึ้นรถพยาบาลมายังเต็นท์โรงพยาบาลสนาม
พ.ต.นพ.ชาญฤทธิ์ กล่าวปิดท้ายว่า ในฐานะของพ่อที่มีลูกอายุ 14-15 ปี รู้สึกดีใจทุกครั้งที่เด็กตื่นและได้ไปเจอพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพราะรู้ว่าการที่ผู้ปกครองไม่ได้พบหน้าลูกเป็นความทรมานมาก
เราป้องกันทุกอย่างที่ควรจะทำจนเด็กฟิตเพียงพอ ดีใจที่เป็นส่วนเล็กๆ เป็นความร่วมมือของทุกคน การเป็นคนไทยนั้นดีมาก ถูกหล่อหลอมเป็นครอบครัว เสียสละโดยที่ไม่ต้องมีคนบอก
แม้คุณหมอจะยังไม่เคยพบ 13 ชีวิต นับแต่วันที่ดูแลเมื่อออกจากถ้ำ แต่เขาดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยทั้งหมดให้กลับสู่อ้อมกอดของครอบครัวอีกครั้ง