เมื่อวันที่ 18 เม.ย.62 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ คณะกรรมการ พีพีพี ครั้งที่ 2/2562 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานรับทราบผลการตีความกิจการให้บริการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร หรือ ดิวตี้ฟรี ว่า ไม่เข้าข่ายกิจการร่วมทุน เนื่องจากไม่เป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่อง หรือมีความจำเป็นสำหรับกิจการท่าอากาศยาน พร้อมทั้งเห็นชอบให้เตรียมเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติได้แต่ก็กำชับให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด มหาชน (ทอท.) ซึ่งควบคุมและกำกับดูแลให้บริการดิวตี้ฟรี เดินหน้าตามหลักเกณฑ์ด้วย
ซึ่งตามกระบวนการได้เปิดขายซองให้บริการดิวตี้ฟรีของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว และกำหนดจะประชุมพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัคร ในวันที่ 22 เม.ย.นี้ และคาดการณ์ว่าจะสรุปรายชื่อผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีได้ ภายในวันที่ 31 พ.ค.นี้
นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงเสนอให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกกิจการดิวตี้ฟรี หรือ ร้านค้าเชิงพาณิชย์ ออกจากสนามบินหลังตีความว่าดิวตี้ฟรีไม่เข้าข่ายกิจการร่วมทุน โดยเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ เพื่อขยายอาคารรองรับผู้โดยสารเพิ่มและเปิดเคาร์เตอร์ตรวจคนเข้าเมือง เพื่อบริการนักท่องเที่ยวให้รวดเร็วและเพียงพอ เพราะตามหลักการสนามบินต้องให้บริการต่อผู้โดยสาร และเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ
สำหรับความคืบหน้าการประมูลดิวตี้ฟรีนั้นเมื่อวันที่ (18 เม.ย.) เป็นสุดท้ายของการเปิดขายซอง มี 4 เอกชนกลุ่มใหญ่เข้าร่วมประมูลแข่งกับคิงเพาเวอร์ด้วย
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า เมื่อวานนี้เป็นวันสุดท้ายที่เปิดให้เอกชนซื้อซองหรือเอกสารการประมูลร้านค้าดิวตี้ฟรีในสัญญาที่ 1 คือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากนั้นจะเปิดชี้แจงรายละเอียดโครงการ วันที่ 22 เม.ย. กำหนดดูสถานที่ประกอบกิจการ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ 23 เม.ย. ก่อนจะเปิดให้เอกชนยื่นซองหรือยื่นข้อเสนอ วันที่ 22 พ.ค. เวลา 9.00-11.00 น. และจะประกาศผู้ชนะการประมูลวันที่ 31 พ.ค.62
ส่วนสัญญาที่ 2 คือ ท่าอากาศยานภูมิภาค ประกอบด้วย ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ เปิดซื้อซองไปแล้ว เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา
หลังจากนี้ ทอท.จะเดินหน้าประมูลตามปกติ เนื่องจากขณะนี้งานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินมีความคืบหน้าต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ผู้ก่อสร้างและการออกแบบภายในต้องวางระบบไฟฟ้า ระบบท่อต่างๆ ให้เสร็จทั้งหมด จึงเป็นที่มาของการทำงานคู่ขนาน เพื่อให้งานก่อสร้างเกิดความต่อเนื่องไม่สะดุด หลังจาก คณะกรรมการ PPP ให้ความเห็นชอบเรื่องนี้คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณา ครม. ในวันที่ 24 เม.ย.นี้
ขณะเดียวกันนายนิตินัยยังได้เปิดเผยรายชื่อผู้ซื้อซองโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) สนามบินสุวรรณภูมิ และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ หลังการปิดขายซองเมื่อวันที่ 18 เม.ย. โดยพบว่ามีผู้ซื้อซองดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ 5 ราย ได้แก่ 1. บริษัทสรรพสินค้าเซ็นทรัล 2. บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี 3.บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล 4. บริษัทการบินกรุงเทพ 5. บริษัทรอยัลออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย)
ส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีผู้ซื้อซอง 4 ราย ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา 2. บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ 3.บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล และ4.บริษัทเดอะมอลล์กรุ๊ป
ทั้งนี้ผู้ที่จะยื่นซองจะต้องบอกรายชื่อพันธมิตรในกิจการร่วมค้า Joint Venture ที่จะร่วมประมูลกับ ทอท. ก่อนไม่เกินวันที่ 8 พ.ค. โดย ทอท.ได้เชิญ สคร. และ สตง. เข้าร่วมสังเกตการณ์ทั้งในวันชี้แจงคุณสมบัติและวันเปิดซอง เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้
ขณะที่กลุ่มเอกชนต่างชาติที่ไม่มีรายชื่อมาซื้อซองนั้นมองว่าในขั้นตอนซื้อซองจะต้องเป็นเอกชนคนไทย 100% ส่วนจะไปจับคู่จับกลุ่มกับใคร วันที่ 8 พ.ค.นี้ เอกชนต้องมาแจ้งกับ ทอท. ว่าในกลุ่มมีใครเข้ามาถือหุ้นร่วมประมูลบ้าง ยืนยันว่า ทอท.ไม่สามารถทำงานได้ช้ากว่านี้แล้ว เพราะขั้นตอนการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ หากเอกชนที่ชนะประมูลเข้าพื้นที่ช้ากว่าเดือน มิ.ย. จะมีปัญหาในเรื่องของการตกแต่งสถานที่ได้