วันนี้ (20 เม.ย.256) เพจเฟซบุ๊กสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อธิบายกรณีข่าวดวงจันทร์สีชมพู โดยระบุว่า วันนี้ หลายคนอาจได้ยินข่าว "Pink Moon" ทำให้อาจเข้าใจว่า จะได้เห็น "ดวงจันทร์เป็นสีชมพู" แต่เดี๋ยวก่อน จริงๆ แล้วมันคือ การตั้งชื่อดวงจันทร์เต็มดวง ในแต่ละเดือนของชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกัน เพื่อเป็นตัวแทนของฤดูกาลที่จะมาเยือนในเดือนนั้นๆ
ในเดือน เม.ย. จะเป็นช่วงเวลาของท้องทุ่งต่างๆ เต็มไปด้วยสีชมพูของดอกฟล็อกซ์ เป็นที่มาของการตั้งชื่อดวงจันทร์เต็มดวงของเดือนนี้ ที่แสนจะหวานด้วยสีชมพูของดอกฟล็อกซ์นั่นเอง
ดังนั้น หากใครอยากชมดวงจันทร์สีชมพู ลองดูที่ขอบฟ้าในช่วงที่ท้องฟ้ามีฝุ่นจาง ๆ และควัน คุณอาจมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงเรื่อ ๆ ได้เช่นกัน แต่นั้นมันคือ ฝุ่น PM 2.5 ก็ดูกันได้ตามสบายนะครับ #อย่าลืมใส่หน้ากากอนามัยกันฝุ่นด้วยเน้อ #PinkMoon
โดยได้นำภาพ ดวงจันทร์เหนือฟ้าเมืองสงขลา 19 เม.ย.ที่ผ่านมาเผยแพร่ ขณะเดียวกันมีผู้ที่นำภาพถ่ายดวงจันทร์จากสถานที่ต่าง ๆ มาโชว์จำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังมีผู้เข้ามาอธิบายเพิ่มเติมการเรียกชื่อ พระจันทร์เต็มดวงในแต่ละเดือน ดังนี้
เดือนมกราคม พระจันทร์หมาป่า (Wolf Moon)
เดือนกุมภาพันธ์ พระจันทร์หิมะ (Snow Moon)
เดือนมีนาคม พระจันทร์หนอน (Worm Moon)
เดือนเมษายน พระจันทร์สีชมพู (Pink Moon)
เดือนพฤษภาคม พระจันทร์ดอกไม้ (Flower Moon)
เดือนมิถุนายน พระจันทร์สตรอร์เบอร์รี่ (Strawberry Moon)
เดือนกรกฎาคม (Buck Moon)
เดือนสิงหาคม พระจันทร์ปลา (Sturgeon Moon)
เดือนกันยายน พระจันทร์ข้าว หรือพระจันทร์แห่งฤดูเก็บเกี่ยว (Havest Moon)
เดือนตุลาคม พระจันทร์นักล่า (Hunter’s Moon)
เดือนพฤศจิกายน พระจันทร์บีเวอร์ (Beaver Moon)
เดือนธันวาคม พระจันทร์ยะเยือก (Cold Moon)