วันนี้ (23 เม.ย.62) นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มีหลักฐานทางวิชาการที่แสดงว่ากัญชามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคหลายชนิด และมีแนวโน้มการนำมาใช้ทางการแพทย์มากขึ้น มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศที่ได้รับอนุญาตศึกษาวิจัยกัญชาทางแพทย์อย่างถูกต้อง ตั้งแต่ปี 2560 ดังนั้นจึงได้จัดตั้งสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ขึ้นเพื่อศึกษาวิจัยกัญชาในทุกมิติ
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตรจารย์ เภสัชกรหญิงสุรางค์ ลีละวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ ม.รังสิต ระบุว่า จากการศึกษาผลของสารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากกัญชา คือ THC และ CBN ต่อเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ในหนูทดลอง โดยฉีดสารดังกล่าวทุกวันเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ทำให้หนูทดลอง ที่ได้รับสารมีขนาดก้อนมะเร็งเล็กกว่าหนูที่ไม่ได้รับสารอย่างมีนัยสำคัญ จึงสรุปได้ว่าสาร THC และ CBN จากกัญชามีฤทธิ์ต้านมะเร็งปอดของมนุษย์ได้ทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง
ด้านปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย ม.รังสิต กล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลอำนวยความสะดวกกับผู้ป่วยที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาของ ม.รังสิต เพื่อรักษาโรค เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ขณะนี้ ม.รังสิต ได้เตรียมโรงเรือนแบบปิดเพื่อปลูกกัญชาแล้ว ขนาด 32 ตารางเมตร ปลูกได้ประมาณ 50 ต้น โรงเรือนจะต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น เพื่อให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของกัญชา และเมื่อได้รับหนังสืออนุญาตให้ปลูกจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่างเป็นทางการแล้ว จะดำเนินการปลูกทันที เพื่อคัดเลือกพันธุ์
ขณะเดียวยังเปิดตัวผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากกัญชา เพื่อใช้ในทางการแพทย์ จำนวน 4 ชิ้น ได้แก่ ยาเม็ดเวเฟอร์จากสารสกัดกัญชา ที่ใช้วางใต้ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม ตัวยาจะดูดซึม ผ่านเยื่อบุในช่องปากโดยไม่ต้องดื่มน้ำตาม จึงเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ป่วยในการใช้ยา และออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้นยานี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการกลืนหรือผู้ป่วยที่มีเยื่อบุช่องปากอักเสบจากการใช้เคมีบำบัด ยาประสะกัญชา ซึ่งเป็นตำรับยาที่นำกัญชามาปรุงเป็นยาเพื่อรักษาโรค นอกจากนี้ยังมี น้ำมันกัญชา และสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปาก