กรณีผู้ป่วยอายุ 24 ปีรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตั้งแต่วัยเด็ก และได้รับเชื้อเอชไอวีจากการรับเลือด ซึ่งแม้จะเป็นเหตุสุดวิสัย แต่อาจทำให้เกิดความกังวลกับกลุ่มผู้ป่วยที่เข้าข่ายต้องรับการเลือด เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคไต โรคธาลัสมีเดีย รวมทั้งผู้ป่วยผ่าตัดที่ต้องรับเลือดซึ่งอาจไม่มั่นใจต่อกระบวนการรับบริจาคเลือด
ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบข้อมูลจากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย หน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการจัดหาโลหิตให้มีปริมาณเพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณภาพสูงสุด จากผู้บริจาคโลหิตด้วยความสมัครใจไม่หวังสิ่งตอบแทน เพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ ทั้งในรูปโลหิต ส่วนประกอบโลหิต และผลิตภัณฑ์โลหิต
จากข้อมูล พบว่าศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ต้องจัดหาโลหิตให้ได้วันละ 1,800-2,000 ยูนิต หรือไม่ต่ำกว่าเดือนละ 58,000 ยูนิต จึงจะเพียงพอจ่ายให้กับผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ แบ่งเป็นหมู่โลหิตที่จำเป็นต้องจัดหาโลหิตเฉลี่ยในแต่ละวัน ดังนี้
- หมู่ A วันละ 500 ยูนิต
- หมู่ B วันละ 550 ยูนิต
- หมู่ O วันละ 800 ยูนิต
- หมู่ AB วันละ 150 ยูนิต
การบริจาคโลหิต คือ การสละโลหิตส่วนเกิน ที่ร่างกายยังไม่จำเป็นต้องใช้ เพื่อให้กับผู้ป่วย จะไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาค เพราะร่างกายแต่ละคนจะมีปริมาณโลหิตประมาณ 17-18 แก้วน้ำร่างกายใช้เพียง 15-16 แก้วเท่านั้น
ส่วนที่เหลือนั้นสามารถบริจาคให้ผู้อื่นได้ โลหิตสามารถบริจาคได้ทุก 3 เดือน เพราะเมื่อบริจาคโลหิตออกไปไขกระดูกจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดโลหิตขึ้นมาทดแทน ให้มีปริมาณโลหิตในร่างกายเท่าเดิม ถ้าไม่ได้บริจาค ร่างกายจะขับเม็ดโลหิตที่สลายตัว เพราะหมดอายุออกมาทางปัสสาวะ อุจจาระ
ภาพ:ศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย
สภากาชาดไทย ยืนยันคัดกรองเลือดทุกถุง
กระบวนการบริจาคโลหิตตั้งแต่เริ่มลงทะเบียน จนกระทั่งบริจาคโลหิตเสร็จสิ้น ใช้เวลาประมาณ 20 นาที ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเลือกเจาะโลหิตที่เส้นโลหิตดำ บริเวณแขน แล้วเก็บโลหิตบรรจุในถุงพลาสติก (BLOOD BAG) ตั้งแต่ 350-450 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้บริจาค
โดยขั้นตอนตรวจเลือด ศูนย์บริการโลหิต จะมีการคัดกรองตั้งแต่การบริจาคประชาสัมพันธ์ต้องมีทั้งมีความพร้อมทั้งร่างกาย และมีการทำแบบคัดกรอง โดยเลือดที่รับบริจาคต้องใน 1 ยูนิต จะต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวี โรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ซิฟิลิส หากพบโรคในเลือดที่รับบริจาคจะต้องยกเลิกเลือดถุงนั้น
พญ.จารุพร พรหมวงศ์ รองผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ผู้ที่ตรวจพบเชื้อเอชไอวี คนล่าสุด เป็นคนที่ 2 จากการตรวจคัดกรองเป็นรายบุคคล โดยเทคโนโลยีที่สภากาชาดไทย ใช้มีความทันสมัย เป็นแบบเดียวกับที่ใช้กันทั่วโลก แต่ทั้งนี้ไม่สามารถตรวจพบเชื้อได้ ในช่วง 7 วัน ถึง 1 เดือน ดังนั้นผู้บริจาคต้องคัดกรองตัวเอง
ภาพ:ศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย
ขอมั่นใจเลือดปลอดภัยส่งถึงผู้ป่วย
ด้าน น.ท.พญ.อุบลวัณณ์ จรูญเรืองฤทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีการรับเลือดแล้วติดเชื้อเอชไอวี ในโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่มีอะไรที่มั่นใจได้ทั้ง 100 % แต่ก็จะต้องคัดกรองสิ่งที่ดีที่สุด
ทั้งนี้การที่จะบริจาคเลือดได้ จะเริ่มต้นตั้งแต่คัดกรองผู้บริจาค สร้างความเข้าใจ ไม่ใช่จู่ๆ จะเดินเข้ามาบริจาค เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างถ้าผู้บริจาคไปมีเพศสัมพันธ์ เมื่อวานนี้ และมาบริจาควันนี้ เชื้อโรคที่หาได้ในร่างกาย ก็มีไม่มากพอที่การตรวจหาค้นเจอ
โดยสภากาชาดไทย จะมีแบบสอบถามที่ใช้คัดกรองตัวเอง จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่สัมภาษณ์อีกครั้ง และตรวจสอบประวัติว่า เคยหรือไม่เคยบริจาคเลือด เพื่อข้อเท็จจริง เมื่อผ่านทุกขั้นตอน ก็จะเอาตัวอย่างเลือดไปตรวจว่า ผ่านหรือตกไป
การรับเลือดแล้วติดเชื้อเอชไอวี เกิดขึ้นได้ แต่โอกาสน้อยมาก ปกติสถานพยาบาลเอกชน จะรับเลือดจากศูนย์บริการโลหิต และเลือดทุกถุงจะผ่านการตรวจคัดกรองอย่างดี เริ่มต้นตั้งแต่คัดกรองผู้บริจาค
ผอ.ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ กล่าวว่า สิ่งสำคัญของผู้บริจาคต้องตระหนัก คือการบริจาคเลือดไม่สามารถช่วยคัดกรอง หรือทำให้ทราบว่า ตนเองติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ เนื่องจากอาจอยู่ในช่วงระยะฟักตัวที่ร่างกายได้รับเชื้อ โดยที่กลไกของร่างกายก็พยายามต่อสู้กับเชื้อโรคอยู่ จึงไม่ปรากฎอาการ ซึ่งระยะนี้ถือว่าอันตรายมาก และมีโอกาสที่จะได้รับเชื้อในช่วงเวลานี้
บางคนเพิ่งมีเพศสัมพันธ์ที่มีความสุ่มเสี่ยงมา เปลี่ยนคู่นอน และอยากรู้ว่าติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่มาบริจาคโลหิต ถือว่าไม่ถูกต้อง บริจาคโลหิต หลังมีเพศสัมพันธ์ไม่นานแบบนี้ ไม่สามารถตรวจ และทราบผลได้
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจกระบวนการของสภากาชาดไทย ที่มีมาตรฐานชัดเจน ทั้งการคัดกรอง รวมถึงการตรวจที่มีน้ำยาที่มีความไวต่อการตรวจจับเชื้อ และทันสมัยสูงสุด และส่งผลการตรวจผ่านระบบคอมพิวเตอร์อีกครั้ง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
รพ.บำรุงราษฎร์ ชี้แจงกรณีผู้ป่วยถ่ายเลือดติดเชื้อเอชไอวี
ไม่ใช่คนแรก! ติดเชื้อ HIV หลังรับเลือดบริจาค
ชัวร์ก่อนบริจาค! อย่าให้ "เลือด" ของเราทำร้ายคนอื่น