การตั้งรัฐบาลยังเป็นประเด็นร้อนประจำสัปดาห์ ประเดิมด้วย 11 พรรคจิ๋ว (พรรคที่มี ส.ส. พรรคละ 1 คน) ประกาศหนุนพลังประชารัฐ เท่ากับว่าขั้วพลังประชารัฐมี ส.ส. อยู่ในมือชัวร์ๆ แล้ว 131 (พลังประชารัฐ 115 คน ,รวมพลังประชาชาติไทย 5คน ,พรรคจิ๋ว 11 คน ) บวกรวมกับ ส.ว. ที่รออยู่แล้ว 250 คน ขั้วพรรคประชารัฐจะดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นายกฯ สมัยที่ 2 ได้ฉลุย
แต่หากจะให้สง่างามก็ต้องได้เสียงข้างมากในสภา หรือมี ส.ส.มากกว่า 250 คน ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวแปรขั้วที่ 3 อย่างภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เตรียมแถลงจุดยืนข้างต้นวันที่ 20 พ.ค. นี้ ขณะที่ประชาธิปัตย์ของเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการชุดใหม่ วันที่ 15 พ.ค.นี้ ก่อน เชื่อว่าจุดยืนของทั้งคู่จะไม่ผิดโผ ถึงอย่างไรก็ตามต่อให้พลิกโผก็ไม่พลิกกระดานพลังประชารัฐ เพียงแต่อาจทำให้ตั้งรัฐบาลยากขึ้นเท่านั้น
ขั้นตอนนี้การ “ปิดสวิตซ์ ส.ว.” ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เรียกได้ว่าหมดหนทางแล้ว เพราะหลักการคือการรวมเสียง ส.ส. ให้ได้เกิน 376 คน เพื่อโหวตเลือกนายกฯ ในสภา โดยไม่ต้องพึ่ง ส.ว. 250 คน แต่ถึงปิดสวิตซ์ไม่ได้ ความพยายามที่จะดึงเสียง ส.ส. มาขั้วเพื่อไทยยังมีความหมาย คือการยื้อเสียง ส.ส.ให้ได้มากที่สุดและใกล้เคียงตัวเลข 250 คน เพื่อให้รัฐบาลอนาคตทำงานได้ไม่ง่าย
เหตุผลคือ 1. หาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้านใกล้กับ 250 คน ขณะที่พรรคฝ่ายรัฐบาลมี ส.ส. เกิน 250 คน ไม่มาก การผ่านกฎหมายสำคัญแต่ละฉบับล้วน “เสียวสันหลัง” เพราะหาก ส.ส. พรรคฝ่ายค้านดึงเสียงจาก ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลมาได้ การผ่านกฎหมายนั้นย่อมสะดุด เช่น พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี ที่มีความสำคัญต่อการบริหารราชการและเดินหน้าโครงการใหญ่ของรัฐบาล
2.การอภิปรายไม่ไว้วางใจ “นายกฯ” ที่ใช้เสียง ส.ส. มากกว่า 250 คน (เกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ 500 คน) สมมติขั้วพลังประชารัฐเป็นรัฐบาล และมีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ หากพรรคฝ่ายค้านที่นำโดยอนาคตใหม่และเพื่อไทย มีส.ส.รวมใกล้เคียงกับ 250 คน ก็เท่ากับ “หายใจรดต้นคอ” เพราะการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแต่ละครั้ง ตำแหน่งนายกฯ ย่อมเสี่ยงถูกสั่นคลอน
3.เสถียรภาพของรัฐบาลขึ้นอยู่กับการ “ต่อรองตำแหน่ง” ภายใน ตัวอย่างที่เห็นชัดตั้งแต่ยังไม่เริ่มรัฐบาล คือสภาวะต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีขณะนี้ ยิ่งเป็นรัฐบาลที่มีพรรคร่วมมากเท่าไหร่ (หากขั้วพลังประชารัฐเป็นรัฐบาลจริง จะมีพรรคร่วมกว่า 20 พรรค)
การต่อรองเก้าอี้จะเป็นไปอย่าง “อุตลุด” เมื่อจะต้องผ่านกฎหมายสำคัญ จะต้องจัดระเบียบ ส.ส. ให้เสียงอยู่ในร่องในรอย เช่นเดียวกับกรณีที่ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ ส.ส. แตกแถวหรือเกิด “งูเห่า” ย้ายไปยกมือสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม
และทุกครั้งที่เกิดการใช้ ส.ส. ก็ต้องมีการต่อรองลักษณะนี้เสมอไป รัฐบาลที่ได้ก็ต้องห่วงหน้าพะวงหลังเพื่อรักษารัฐบาล
การสู้ของอนาคตใหม่และเพื่อไทย คงรู้อยู่แก่ใจว่าวันนี้จะสู้ให้ “ชนะ” เพื่อเป็นรัฐบาลนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ แต่การสู้เพื่อเกมการเมืองผ่านระบบรัฐสภาในระยะยาวนั้นแสนคุ้ม
จะคุ้มยิ่งกว่าเมื่อมองยาวไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งทั้งอนาคตใหม่และเพื่อไทย ส่งสัญญาณว่าอ่านเกมนี้ขาด! เริ่มจากอนาคตใหม่ที่ตัดสินใจส่งสมาชิกพรรคเล่นการเมืองท้องถิ่น เช่นเดียวกับเพื่อไทยที่ตอนนี้ประกาศโผรายชื่อของผู้สมัครที่จะลงแข่งขันในการเมืองระดับท้องถิ่นแล้ว
ที่มา เพจ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
ทำไมท้องถิ่นจึงสำคัญ ? สำคัญมาก เพราะหากอนาคตใหม่และเพื่อไทย ไม่ได้เป็นรัฐบาล เท่ากับว่านโยบายที่หาเสียงไว้ไม่สามารถจะทำได้เลยในการเมืองระดับชาติ และฐานเสียงที่สนับสนุนพรรคก็อาจจะไม่สนับสนุนอย่างที่เคยในการเลือกตั้งครั้งหน้า ขณะที่ขั้วพลังประชารัฐ หากได้เป็นรัฐบาลจะมี “ทรัพยากร” มหาศาล ที่จะอัดฉีดไปยังรากหญ้าและภาคเศรษกิจอื่นๆ ซึ่งย่อมได้เปรียบในเชิงการเพิ่มฐานเสียง
ดังนั้นการเมืองท้องถิ่น โดยเฉพาะท้องถิ่นใหญ่ๆ ที่มีงบฯ หลักร้อยล้าน-พันล้านต่อปี จะเป็นเครื่องมือที่ดีเยี่ยม ที่อนาคตใหม่และเพื่อไทยจะใช้เดินหน้าโครงการสำคัญและสร้างฐานเสียงในอนาคต เพราะหากอ่านเกมการเมืองดังที่วิเคราะห์มาข้างต้น ก็เชื่อว่ารัฐบาลที่มีเสียงปริ่มน้ำ “จะอยู่ได้ไม่นาน... จะอยู่ได้ไม่ครบเทอม”
หลังเลือกตั้งใหญ่ 2562 เพื่อไทย-อนาคตใหม่ ในสถานการณ์ที่ยากจะต้านทานขั้วพลังประชารัฐและ 250 ส.ว. คือการเป็นฝ่ายค้านที่แข็งแกร่ง-สมศักดิ์ศรี ในสภาผู้แทนฯ และต้องเป็นนักการเมืองที่ “เก่งกว่า” ในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อสร้างแต้มต่อและฐานเสียงสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า