ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สธ.สั่งดำเนินคดีผู้ก่อเหตุทำร้ายร่างกายใน รพ.อุบลราชธานี - ยโสธร

อาชญากรรม
20 พ.ค. 62
12:37
929
Logo Thai PBS
สธ.สั่งดำเนินคดีผู้ก่อเหตุทำร้ายร่างกายใน รพ.อุบลราชธานี - ยโสธร
กระทรวงสาธารณสุข ประสานตำรวจแจ้งความดำเนินคดี และเรียกค่าเสียหายกับผู้ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย ในโรงพยาบาลที่ จ.ยโสธรและอุบลราชธานี พร้อมกำชับโรงพยาบาลทุกแห่งคุมเข้มความปลอดภัย

วันนี้ (20 พ.ค.2562) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 10 ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับมอบหมายจาก นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หลังเกิดเหตุมีผู้เข้าไปทำร้ายผู้ป่วยที่กำลังรักษาที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลเหล่าเสือโก้ก ต.เหล่าเสือโก้ก อ.เหล่าเสือโก้ก จ.อุบลราชธานี และเหตุทำร้ายญาติผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร พร้อมกำชับให้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุ และเรียกร้องค่าเสียหายจากการทำลายเครื่องมือแพทย์อย่างถึงที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ


นพ.ธงชัย  ระบุว่า โรงพยาบาลเหล่าเสือโก้ก มีผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บ 1 คน ส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ นอกจากนี้ ยังพบอุปกรณ์การแพทย์ได้รับความเสียหาย คือ เครื่องวัดความดันโลหิต

ส่วนโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทาผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นญาติผู้ป่วย เบื้องต้น ได้สั่งการให้โรงพยาบาลในเขตสุขภาพทุกแห่ง ประสานงานตำรวจทันที หากมีผู้ป่วยจากการทะเลาะวิวาทเข้ามารักษาไม่ต้องรอเกิดเรื่องก่อน ให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกันญาติ หรือมีประตูนิรภัยให้ล็อคประตูทันที รวมทั้งติดกล้องวงจรปิดเพิ่ม

บุกทำร้ายคู่อริกลางห้องฉุกเฉิน รพ.เหล่าเสือโก้ก

สำหรับเหตุทะเลาะวิวาทภายในโรงพยาบาลเหล่าเสือโก้ก อ.เหล่าเสือโก้ก จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา เกิดขึ้นหลังคู่กรณีตามมาทำร้ายร่างกายผู้บาดเจ็บ ท่ามกลางแพทย์และพยาบาล ที่ช่วยกันห้ามปราม อุปกรณ์การแพทย์ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาล หล่นกระจัดกระจายและได้รับความเสียหาย

จากการสอบสวนทราบว่า นายปรีดา ดวงเพชร 27 ปี ชาวบ้านตำบลโพนเมือง เข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยอาการศีรษะแตก เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. จากเหตุทะเลาะวิวาทชกต่อยกับนายธนกฤติ มุ้งพร อายุ 41 ปี ในงานบุญที่ดอนปู่ตา บ้านโพนเมือง อ.เหล่าเสือโก้ก


ระหว่างที่ผู้บาดเจ็บรักษาตัวที่โรงพยาบาล นายธนกฤติ ได้นำมีดปังตอเข้ามาในห้องฉุกเฉินและฟันที่ใบหน้าของผู้บาดเจ็บ จากนั้นก็พยายามฟันซ้ำ ผู้บาดเจ็บจึงเบี่ยงตัวหลบ ทำให้มีดไปโดนอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้รับความเสียหาย แต่เจ้าหน้าที่ช่วยกันห้ามปรามและควบคุมตัวไว้ได้ ก่อนส่งตัวผู้บาดเจ็บไปยังโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อ.เมืองอุบลราชธานี เนื่องจากอาการสาหัส

เบื้องต้น ตำรวจนำตัวนายธนกฤติ ไปควบคุมที่สถานีตำรวจภูธรเหล่าเสือโกก และสอบปากคำซึ่งผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ แต่ยังไม่บอกถึงสาเหตุการทำร้ายครั้งนี้


ทั้งนี้ ตำรวจควบคุมตัวนายธนกฤติ พร้อมแจ้งข้อกล่าวหา ใช้อาวุธมีดทำร้ายร่างกายให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส และทำให้ทรัพย์สินของทางราชการได้รับความเสียหาย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บ ล่าสุด พ้นขีดอันตรายแล้ว

ทำร้ายร่างกาย "ชายพิการ" ญาติผู้ป่วยในโรงพยาบาล

ขณะเดียวกันที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา จ.ยโสธร ได้มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ วัยรุ่นกว่า 10 คน รุมทำร้ายร่างกายญาติของผู้บาดเจ็บ จากที่ถูกทำร้ายมาก่อนหน้า

เหตุเกิดช่วงเวลาประมาณ 02.00 น. ของคืนวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการทะเลาะวิวาทบริเวณหน้าตึกอุบัติเหตุฉุกเฉิน ระหว่างนั้นมี เจ้าหน้ารักษาความปลอดภัย และตำรวจ เข้าระงับเหตุ


น.ส.ฑิตฐิตา โชติเนตร อาสาสมัครกู้ภัย เล่าว่า กลุ่มวัยรุ่นทะเลาะกันมาจากหมอลำซิ่ง ในงานบุญบั้งไฟวัดบ้านโคกสูง ที่เกิดเหตุ พบคนเจ็บเป็นชายพิการอายุ 39 ปี ถูกตีที่ศีรษะ จากนั้นชายสูงอายุ ได้นำตัวมารักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชฯ ก่อนจะมีวัยรุ่นกว่า 10 คน ตามมาทำร้าย ทั้ง 2 คน

ล่าสุด ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเลิงนกทา สั่งการให้ชุดสืบสวน เร่งติดตามตัวกลุ่มวัยรุ่นที่อยู่ในคลิปมาดำเนินคดีตามกฎหมาย


ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในโรงพยาบาล โดยเฉพาะบริเวณห้องฉุกเฉิน ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงเกิดเหตุบ่อยครั้ง ดังนี้

  1. ให้โรงพยาบาลจัดทำแนวทางปฏิบัติป้องกันและจัดการความรุนแรง ทบทวน ฝึกซ้อมและปรับปรุงเป็นประจำ
  2. จัดทำระบบควบคุมประตู หรือมีทางเข้า-ออก ที่ปลอดภัยหลายช่องทาง
  3. จัดสถานที่พักคอยสำหรับญาติ รวมทั้งจำกัดการเข้าออก
  4. ตรวจสอบกล้องวงจรปิดให้พร้อมใช้งาน และติดตั้งเพิ่มในจุดเสี่ยง
  5. จัดระบบคัดกรองโดยเฉพาะผู้ป่วยห้องฉุกเฉิน และจัดบริการให้เหมาะสมกับความเร่งด่วน รวมทั้งให้สื่อสารกับญาติผู้ป่วยเป็นระยะ เพื่อลดความวิตกกังวล
  6. จัดเวรยามรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง
  7. จัดหาสัญญาณเตือนภัย หรืออุปกรณ์ขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน และมีช่องทางแจ้งเหตุด่วนกับตำรวจ ฝ่ายปกครอง และเครือข่ายอาสาสมัคร มูลนิธิต่างๆในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม แม้กระทรวงสาธารณสุขจะมีมาตรการป้องกัน แต่คงป้องกันไม่ได้ทั้งหมด ต้องขอความร่วมมือประชาชนผู้มารับบริการ รวมทั้งญาติผู้ป่วย ช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงขึ้นในโรงพยาบาลซึ่งควรจะเป็นพื้นที่ปลอดความรุนแรงสำหรับประชาชนทุกคน และที่สำคัญคือ จิตสำนึกความรับผิดชอบของผู้ที่ตั้งใจเข้ามาก่อเหตุ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง