เมื่อวานนี้ (20 พ.ค.2562) นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยมีข้อมูลหลักฐานเพียงพอต่อการฟ้องร้อง บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ที่แจ้งราคานำเข้าบุหรี่ต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการเลี่ยงภาษี ทำให้ประเทศสูญเสียรายได้ 60,000 ล้านบาท และในเรื่องนี้นักวิชาการควบคุมยาสูบ 53 คนได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้รัฐบาลดำเนินการฟ้องร้องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ ต่อให้สำเร็จ พร้อมทั้งส่งข้อมูลสนับสนุนการดำเนินการให้แก่คณะอัยการด้วย
ส่วนกรณีที่รัฐบาลไทยถูกฟ้องร้องจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่องค์การการค้าโลก (WTO) นพ.หทัย ระบุว่า ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด แต่ข้อมูลปรากฏ คือบริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ ได้ลงทุน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างโรงงานบุหรี่ขนาดมหึมาที่กรุงมะนิลา เมื่อปี 2000 นับเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดจากต่างประเทศ
นายวศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า หลักเกณฑ์ในการใช้ดุลยพินิจของอัยการเพื่อการถอนฟ้องคดี ควรชั่งน้ำหนักระหว่าง "สุขภาพของคนไทย" หรือ "ผลประโยชน์ของบริษัทบุหรี่" และพันธกรณีที่ไทยมีต่อองค์การอนามัยโลกด้วย เพราะจากเนื้อหาของเอกสารลับขอให้นายกรัฐมนตรี ล้มคดียื่นฟ้องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงแต่พันธกรณีของไทยภายใต้ WTO แต่ลืมนึกถึงพันธกรณีตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (FCTC)
ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่านายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำหนังสือลับที่สุด ถึง พล.อ.ประยุทธ์ โดยผ่านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เพื่อขอให้ใช้อำนาจฝ่ายบริหารยุติการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ กรณีเมื่อปี 2559 หลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรนำเข้าบุหรี่ โดยแจ้งราคาบุหรี่นำเข้า ราคาซองละ 7 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำเกินจริง แต่ราคาขายปลีกซองละ 145 บาท จึงเป็นการเลี่ยงภาษีประมาณ 60,000 ล้านบาท