สำหรับแคนดิเดตประธานสภาผู้แทนราษฎร มีรายชื่อที่ถูกจับตาจาก 3 ขั้ว ขั้วแรกพรรคพลังประชารัฐ แคนดิเดตประธานสภาฯของขั้วนี้มีเพียงคนเดียว คือ นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา เป็นประธานสภาเพียงชื่อเดียว โดยนายสุชาติ เคยเป็น ทั้งรองประธานสภาฯ เมื่อปี 2548 , อดีต รมช. มหาดไทย , และ ส.ส.ฉะเชิงเทรา 8 สมัย
นายสุชาติ เป็นที่รู้จักของคนในแวดวงการเมืองตั้งแต่เป็น ส.ส. สังกัดพรรคสามัคคีธรรม กลุ่ม 16 ที่เกิดจากการรวมตัวของ ส.ส.รุ่นใหม่ในยุคนั้นซึ่งสมาชิกแต่ละคน ก็เติบโตและกลายเป็น รัฐมนตรีคนสำคัญในรัฐบาลถัดๆมา ไม่ว่าจะเป็น นายเนวิน ชิดชอบ ,นายวราเทพ รัตนากร, หรือนายสนธยาคุณปลื้ม นายสุชาติ ยังเป็นที่รู้จักในฐานะ 1 ในกลุ่ม ส.ส.บ้านริมน้ำ อีกด้วย
นายสุชาติ ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ถูกอภิปรายฝ่ายค้าน จากการที่บริษัทในครอบครัวของเขานำที่ดิน จ.หนองคาย ไปค้ำประกันเงินกู้ธนาคาร ซึ่งบาดแผลนี้ทำให้นายสุชาติ ถอยออกไปสู่งานนิติบัญญัติ ปี 2545 นายสุชาติ ย้ายมาอยู่พรรคความหวังใหม่ เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ต่อมาพรรคความหวังใหม่ยุบรวมกับพรรคไทยรักไทย นายสุชาติจึงก้าวสู่ตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 จากการผลักดันของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร
ประชาธิปัตย์ส่ง "ชวน หลีกภัย" ชิงเก้าอี้
ขณะที่ขั้วที่ 2 ขั้วพรรคประชาธิปัตย์ เรียกว่าลุ้นจนเกือบจะนาทีสุดท้าย ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยว่า จะส่ง 3 รายชื่อ คือ นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่สุดท้ายที่ประชุมมีมติเสนอชื่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์
วิเคราะห์ตามประสบการณ์ทางการเมือง นายชวน ถือว่ามีประสบการณ์สูง ทำงานการเมืองกว่า 50 ปี และเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 ครั้ง และเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง ที่สำคัญเป็นนายกฯ คนแรกที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกระทรวงยุติธรรม และยังเคยเป็นประธานสภาฯ คนที่ 15 ระหว่างปี 2529-2531 นายชวน เป็นนักการเมืองที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นคนมีความสุจริตโปร่งใส ได้รับฉายาว่า Mr.Clean นายชวน จึงถือว่าเป็นแคนดิเดตฯ ที่มีโอกาสสูงหากวัดจากประวัติทางการเมือง แต่สิ่งที่เป็นรองคือเสียงสนับสนุนจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ขณะนี้เสียงส.ส.ของพรรคมีโอกาสเป็นแบ่ง 2 ฝ่ายตามอุดมกาณ์ของสมาชิกพรรค
"7 พรรคร่วม" จับมือโหวตเพื่อไทยชิงเก้าอี้
ขั้วที่ 3 พรรคเพื่อไทย ยืนยันรายชื่อผู้ชิงตำแหน่งประธานสภาฯ ได้แก่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเคยเป็นรองนายกฯ สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรมว.การต่างประเทศ สมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
ก่อนการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 นายสมพงษ์ เป็นแกนนำก่อตั้งพรรคเพื่อธรรมซึ่งถูกจับตาว่าเป็นพรรคสำรองของพรรคเพื่อไทยในการเพิ่มจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ และพรรคเพื่อธรรมมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ แต่ต้นปี 2562 นายสมพงษ์ เลือกลาออกจากตำแหน่งหัวพน้าพรรคและกลับมาสังกัดสมาชิกพรรคเพื่อไทย แล้วลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคเพื่อไทย
ขณะที่วานนี้มีรายงานว่า แกนนำ 7 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคพลังปวงชนไทย ได้ประชุมเพื่อหารือการโหวตประธานสภา ร่วมกันที่โรงแรมแห่งหนึ่งโดยเบื้องต้น ที่ประชุมมีมติให้เสนอชื่อคนจากพรรคเพื่อไทยเป็นประธานสภา ซึ่งคาดว่ายังจะเป็นนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์
ทั้งนี้ ยังมีรายงานว่า 7 พรรคมีข้อตกลงที่จะโหวตไปในทิศทางเดียวกัน หากพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมกับฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตย โดยมีหลักการว่าจะต้องไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และหยุดสืบทอดอำนาจ แม้จะร่วมเพียง 10-20 คน ทางพรรคร่วมทั้ง 7 ก็พร้อมยกมือโหวตนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาตามมติแคนดิเดตจากพรรคประชาธิปัตย์