วันนี้(29 พ.ค.2562) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนประชาชนอาจถูกสัตว์มีพิษกัดต่อยได้ เช่น ตะขาบ แมงป่อง โดยเฉพาะงู ซึ่งในแต่ละปีมีรายงานผู้ป่วยถูกงูพิษกัดประมาณ 7,000-10,000 คน ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เตือนประชาชน และให้ความรู้ในการป้องกันตนเองจากอันตรายของสัตว์มีพิษ
รวมทั้งให้โรงพยาบาลในสังกัด เตรียมสำรองเซรุ่มแก้พิษงูที่พบบ่อยในแต่ละภูมิภาค 7 ชนิดได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา งูแมวเซา งูกะปะ และงูเขียวหางไหม้ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที ลดการเสียชีวิต
ตอนนี้ยังมีความที่เข้าใจผิดว่า หากถูกงูกัดให้กรีดแผล ใช้ไฟจี้แผล ใช้ปากดูดพิษงูออกจากแผล หรือพอกยา พอกสมุนไพรในแผลที่ถูกงูกัด ไม่มีประโยชน์ในการลดพิษ และอาจทำให้ติดเชื้อได้ รวมทั้งไม่ควรทำการขันชะเนาะ เพราะเพิ่มความเสี่ยงเกิดเนื้อเน่าตาย
นพ.ไพศาล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้หากเป็นงูที่มีพิษต่อระบบประสาท มีรายงานว่าผู้ป่วยอาจอาการแย่ลง จนเกิดภาวะหายใจวายทันที หลังคลายการขันชะเนาะได้ วิธีที่ถูกต้องคือ ขอให้ตั้งสติและสังเกตลักษณะของงู รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หรือโทรแจ้ง 1669
โดยล้างบริเวณที่ถูกงูกัดด้วยน้ำสะอาด เคลื่อนไหวบริเวณที่ถูกงูกัดให้น้อยที่สุด ยกให้อยู่ในระดับต่ำกว่าหัวใจ อาจดามด้วยแผ่นไม้หรือวัสดุแข็งแล้วใช้ผ้าพันแผลยางยืดรัดให้แน่น เพื่อประคองให้ส่วนที่ถูกกัดอยู่นิ่งที่สุด ไม่จำเป็นต้องรอจับงูที่กัดมาด้วย เพราะจะเสียเวลาในการรักษา แพทย์สามารถให้การรักษาได้จากอาการและการสอบถามลักษณะงูที่กัดจากผู้ป่วย
แนะสังเกต "รอยเขี้ยวงู" แยกชนิด
ทั้งนี้ งูพิษมีเขี้ยวยาว 2 เขี้ยวอยู่ด้านหน้าขากรรไกรบน ลักษณะเป็นท่อปลายแหลมเหมือนเข็มฉีดยา มีท่อต่อมน้ำพิษที่โคนเขี้ยว เมื่องูกัดพิษจะไหลเข้าสู่ร่างกายทางรอยเขี้ยว และมีอาการบวมแดงรอบ ๆ รอยกัด บางครั้งอาจเห็นเพียงรอยเดียว
โดยเฉพาะถ้าถูกกัดบริเวณปลายมือปลายเท้า หรือบางครั้งอาจเห็นมากกว่า 2 รอยในกรณีที่ถูกกัดมากกว่า 1 ครั้ง อาจมีอาการปวดอย่างรุนแรง คลื่นไส้อาเจียน หายใจติดขัด หากรุนแรงอาจหยุดหายใจ สายตาขุ่นมัว มีน้ำลายมากผิดปกติ และหน้าชาไม่รู้สึกหรือชาตามแขนขา โดยพิษนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของงู เช่นงูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา จะมีพิษต่อระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงหนังตาตก กลืนลำบาก พูดไม่ชัด และหยุดหายใจได้