วันนี้ (2 มิ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจความคิดของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทย โดยเฉพาะภาพรวมของการจับขั้วพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาล โดยพบว่าร้อยละ 76.29 เบื่อหน่ายมากขึ้นกับการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนความไม่แน่นอนในการจับขั้วพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาล พบว่าร้อยละ 44.14 เป็นเรื่องของผลประโยชน์ตอบแทน รองลงมาร้อยละ 33.30 ภายในพรรคเสียงแตก และร้อยละ 17.86 ทุกพรรคอยากเป็นรัฐบาล ขณะที่ร้อยละ 67.45 ประชาชนคิดว่าปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อเกิดจากสาเหตุที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ไม่ลงตัว แย่งเก้าอี้ รองลงมาร้อยละ 28.27 ผู้นำพรรคยังตัดสินใจไม่ได้ และร้อยละ 19.08 เป็นเกมการเมือง
สำหรับสิ่งที่ประชาชนอยากฝากไปยังพรรคการเมืองต่างๆ เกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล พบว่าร้อยละ 58.43 ฝากให้พรรคขนาดใหญ่ เช่น พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย นึกถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ส่วนร้อยละ 47.75 ฝากให้พรรคขนาดกลาง เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคอนาคตใหม่ ให้รักษาสัญญา ไม่โกหกประชาชน และร้อยละ 53.42 ฝากให้พรรคขนาดเล็ก ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด สร้างผลงานเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ประชาชนยังเสนอแนะที่จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลรวดเร็วและประสบผลสำเร็จ พบว่าร้อยละ 43.73 ปฏิบัติตามหลักสากล-เป็นประชาธิปไตย รองลงมาร้อยละ 40.31 ไม่เห็นแก่ส่วนตนและพวกพ้องมากเกินไป และร้อยละ 31.77 ถอยหลังคนละก้าว ลดทิฐิ และไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน
ขณะที่นิด้าโพล เผยผลสำรวจเกี่ยวกับ "บทเรียนและบทบาทพรรคประชาธิปัตย์" โดยเฉพาะสาเหตุที่ทำให้แพ้การเลือกตั้งที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 32.83 ประชาชนเบื่อ/ไม่ชอบวิธีการดำเนินงานทางการเมือง ส่วนร้อยละ 17.05 นักการเมืองส่วนใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์พูดเก่งอย่างเดียว แต่ปฏิบัติไม่เป็น
ขณะที่ร้อยละ 13.40 ประชาชนเบื่อ/ไม่ชอบ ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 12.85 ประชาชนเบื่อ/ไม่ชอบวิธีการดำเนินงานทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วนร้อยละ 11.66 กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กำหนดยุทธศาสตร์การหาเสียงที่ผิดพลาด ร้อยละ 11.58 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ
นอกจากนี้ ร้อยละ 2.85 ประชาชนเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้ จึงตัดสินใจสนับสนุนพรรคอื่นแทน ส่วนร้อยละ 2.46 พรรคประชาธิปัตย์ถูกโกงการเลือกตั้ง และอื่นๆ ร้อยละ 6.98 พรรคไม่มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน นโยบายของพรรคไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน และพรรคไม่มีผลงานที่ชัดเจน
ขณะเดียวกัน ประชาชนมีความรู้สึกต่อบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนี้ พบว่าร้อยละ 31.17 พรรคฯ มีความแตกแยกมากเกินกว่าที่จะตัดสินใจทางการเมืองได้อย่างรวดเร็ว