นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงแนวทางการควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่า การรระบาดของโรคไข้เลือดออกในขณะนี้ จำเป็นต้องเร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในภาชนะ หรือเศษวัสดุที่มีน้ำขังและเมื่อมีการตรวจพบลูกน้ำ หรือตัวโม่ง เนื่องจากยุงลายถือเป็นเหตุรำคาญ ซึ่งราชการส่วนท้องถิ่น เจ้าพนักงานท้องถิ่นและเจ้าพนักงานสาธารณสุขสามารถดำเนินการควบคุมได้ทันที
โดยประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ประชาชนในท้องถิ่นทราบถึงอันตรายของโรคไข้เลือดออก ลักษณะอาการ การควบคุมและป้องกันแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย รวมทั้งผลทางกฎหมายที่กำหนดให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นเหตุรำคาญ และให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น เจ้าพนักงานสาธารณสุขและผู้ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เฝ้าระวังโรคและควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในเขตท้องที่ หากพบว่าอาคารหรือสถานที่ใดของเอกชนมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ให้แจ้งหรือแนะนำเจ้าของ หรือผู้ครอบครองแหล่งนั้น ปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาตามสมควร
ทั้งนี้ หากไม่ปรับปรุงแก้ไขตามกำหนด ให้เจ้าพนักงานออกคำสั่งเป็นหนังสือตามมาตรา 28 ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองปรับปรุงแก้ไขในเวลาตามสมควร หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม จะมีความผิดตามมาตรา 74 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในที่หรือทางสาธารณะ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถดำเนินการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์นั้นได้โดยการถม ระบายน้ำทิ้ง คว่ำ หรือใส่สารเคมีกำจัดลูกน้ำ รวมถึงอาคารรกร้างว่างเปล่า หรือก่อสร้างไม่เสร็จด้วย
สำหรับวิธีป้องกันการโดนยุงกัดและการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในบ้านและบริเวณบ้าน เพื่อป้องกันการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง สามารถทำได้ด้วยการกำจัดเศษขยะและคว่ำภาชนะที่มีน้ำขัง เช่น เศษขยะพลาสติก ยางรถยนต์เก่า เศษกระถาง เป็นต้น ทำความสะอาดและเก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบ เปลี่ยนถ่ายน้ำในภาชนะที่กักเก็บน้ำทุกสัปดาห์ เช่น แจกัน น้ำพุเทียม กระถางต้นไม้
รวมถึงใช้ทรายอะเบท ใส่เกลือ หรือน้ำส้มสายชูในจานรองขาตู้กับข้าว เพื่อตัดวงจรการเจริญเติบโตของยุง และปิดภาชนะเก็บน้ำภายในบ้านให้มิดชิด เพื่อป้องกันยุงลายเข้าไปวางไข่ หากในบ้านมีเด็กเล็กต้องกางมุ้งครอบเตียงของเด็กด้วย