นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือน พ.ค.-ส.ค. เป็นฤดูเห็ดหลาก ชาวบ้านนิยมเก็บเห็ดป่ามาประกอบอาหารและขายในตลาดท้องถิ่น ส่งผลให้สถานการณ์อาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูงในแต่ละปี
โดยในปี 2561 พบผู้ป่วยมากกว่า 1,300 คนและมีผู้เสียชีวิต 6 คน ส่วนใหญ่ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาญเจริญ และร้อยเอ็ด ซึ่งเห็ดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเห็ดระโงกหินและเห็ดระโงกดำพิษ เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาวหรือไข่ห่าน หรือเห็ดไส้เดือนที่สามารถรับประทานได้ และเห็ดถ่านเลือด ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับเห็ดถ่านใหญ่ และเห็ดหมวกจีนที่มีลักษณะคล้ายกับเห็ดปลวกหรือเห็ดโคน
ขณะที่ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-26 พ.ค.2562 พบผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษ 141 คน และในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.2562 กรมควบคุมโรคได้รับรายงานผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษ 5 เหตุการณ์ จาก จ.ศรีสะเกษ ตาก อํานาจเจริญ เชียงใหม่ และเลย
สำหรับอาการที่เกิดจากการรับประทานเห็ดพิษมีความแตกต่างกันตามชนิดและปริมาณเห็ดที่กินเข้าไป เช่น "เห็ดระโงกหินและเห็ดระโงกดำพิษ" จะเกิดอาการภายใน 6-24 ชั่วโมง มีอาการท้องร่วง เป็นตะคริวที่ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน แสดงอาการประมาณ 1 วัน หลังจากนั้นมีอาการตับและไตวายและอาจเสียชีวิต
"เห็ดหมวกจีน" จะเกิดอาการภายใน 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง มีอาการเหงื่อออกมาก น้ำตาไหล น้ำลายไหล ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงชีพจรเต้นช้าและอาจทำให้เสียชีวิตได้ภายในครึ่งชั่วโมง
"เห็ดหัวเกร็ดครีบเขียว" จะเกิดอาการภายใน 15 นาทีถึง 4 ชั่วโมง ทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริวที่ท้อง ท้องเสีย
"เห็ดถ่านเลือด" จะเกิดอาการภายใน 2 ชั่วโมง มีอาการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร ต่อมาหลังจาก 6 ชั่วโมง มีอาการเจ็บกล้ามเนื้อ ตับและไตวายและอาจเสียชีวิต
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ป่วยกินเห็ดพิษ
หากพบผู้ป่วยที่รับประทานเห็ดมีพิษต้องทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้ดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือ ในอัตราส่วนเกลือ 3 ช้อนชาต่อน้ำอุ่น 1 แก้ว แล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมามากที่สุด เพื่อลดการดูดซึมของสารพิษ หลังจากนั้นให้กินผงถ่าน โดยบดละเอียด 2-3 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 แก้ว ผสมกับน้ำให้ข้นเหลว เพื่อดูดสารพิษของเห็ดในทางเดินอาหาร แล้วจึงรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล พร้อมนำเห็ดที่เหลือไปด้วยเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยรักษาอาการและส่งตรวจชนิดของเห็ดพิษ
ทำอย่างไรให้กินเห็ดอย่างปลอดภัย
การสังเกตลักษณะภายนอกของเห็ดเป็นเรื่องยาก เช่น เห็ดที่มีสีสันสวยงามจะเป็นเห็ดพิษอาจไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะเห็ดพิษบางชนิดเป็นสีขาว ต้องใช้วิธีตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการเท่านั้น ซึ่งประชาชนต้องระมัดระวังด้วยการไม่รับประทานเห็ดที่ไม่รู้จัก, อย่ารับประทานเห็ดสุกๆ ดิบๆ ควรปรุงให้สุกก่อน, คัดเห็ดที่เน่าเสียทิ้ง เพราะจะทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ, รับประทานแต่พอควร เพราะเห็ดเป็นอาหารที่ย่อยยาก ซึ่งผู้ที่มีระบบย่อยอาหารอ่อนแออาจทำให้เกิดอาหารเป็นพิษได้ และอย่ารับประทานพร้อมกับดื่มสุรา เนื่องจากเห็ดบางชนิดจะเกิดพิษทันที
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
แค่ 5 เดือนกิน "เห็ดพิษ" เสียชีวิต 5 คน ป่วย 141 คน