เมื่อวานนี้ (26 มิ.ย.2562) นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช.เปิดเผยว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ตามรายการที่กำหนด ประกอบไปด้วย รายการทรัพย์สิน 9 รายการ ได้แก่ 1. เงินสด 2. เงินฝาก 3. เงินลงทุน 4. เงินให้กู้ยืม 5. ที่ดิน 6. โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 7. ยานพาหนะ 8. สิทธิและสัมปทาน 9. ทรัพย์สินอื่น และหนี้สิน 4 รายการ ได้แก่ 1. เงินเบิกเกินบัญชี 2. เงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่น 3. หนี้สินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ 4. หนี้สินอื่น สำหรับกรณีทรัพย์สินที่ยืมผู้อื่นมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณา คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 640 และมาตรา 650 มีกำหนดว่า "ยืมใช้คงรูป" คือการยืมที่ตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้น เมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว ไม่ได้กำหนดให้แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ส่วนการ "ยืมใช้สิ้นเปลือง" คือการยืมโดยโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้น หรือคืนให้ด้วยทรัพย์สินอื่นแทน กำหนดเป็นรายการหนี้สิน ที่ต้องแจ้งและแสดงบัญชีด้วย
นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า กรณีที่มีการกล่าวหา-ร้องเรียนหรือมีเหตุอันควรสงสัยนั้น ป.ป.ช.ต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไป เช่น กรณีเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับรถยนต์ยี่ห้อโฟล์กสวาเก้นท์ ที่พบอยู่ในบ้านพักอาศัยของ นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม โดยมีการกล่าวอ้างว่า บุคคลอื่นให้ยืมใช้ทรัพย์สิน ซึ่งได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานรับฟังได้ว่าเป็นทรัพย์สินของนายสุพจน์ ที่ต้องนำมาแสดงต่อ ป.ป.ช. หรือกรณีที่มีข่าวนาฬิกาที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สวมใส่ในสถานที่ต่างๆ จำนวนหลายเรือน ซึ่งได้รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานรับฟังได้ว่า พล.อ.ประวิตร ได้ยืมเพื่อนมาใส่ ในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วคืนกลับไป จึงไม่เป็นทรัพย์สินของ พล.อ.ประวิตร ที่ต้องนำมาแสดงต่อ ป.ป.ช.แต่อย่างใด