ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หน้าฝนเสี่ยงงูเข้าบ้าน พบคนถูกงูพิษกัดในไทยพุ่งสูง

สังคม
28 มิ.ย. 62
13:12
12,291
Logo Thai PBS
หน้าฝนเสี่ยงงูเข้าบ้าน พบคนถูกงูพิษกัดในไทยพุ่งสูง
ช่วงฤดูฝนมีเหตุรับแจ้งเจองูตามบ้านเรือนมากขึ้น ช่วง 4-5 ปีมานี้เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต้องช่วยจับงูที่เข้าบ้านเรือนประชาชนปีละไม่ต่ำกว่า 20,000 ตัว หรือเฉลี่ยวันละ 100-140 ตัวและพบว่าเป็นงูพิษเพิ่มมากขึ้น

วันนี้ (28 มิ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บางเขน เข้าจับงูเห่าในบ้านที่อาศัยหลังติดๆ กัน ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุแจ้งงูพิษเข้าบ้านในเขตเมือง ย่านที่อยู่อาศัยที่เกิดขึ้นถี่ช่วงเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา

ธรรมชาติของสัตว์เลื้อนคลานที่ขยายพันธุ์ได้เร็ว โดยงู 1 ตัว ออกไข่ปีละครั้ง ครั้งละ 20-30 ฟอง ขณะที่การขยายตัวของเมืองและสิ่งปลูกสร้างที่ไปทับโพรง หรือแหล่งที่งูเคยอาศัย โดยเฉพาะพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เดิมเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ยังเป็นอีกปัจจัยที่เจ้าหน้าที่ระบุว่า ทำให้งูและสัตว์เลื้อยคลานอื่นเข้ามาหลบซ่อนตัว หนีน้ำและหาความอบอุ่นให้ร่างกาย อาศัยตามท่อ มุมอับชื้นตามบ้านเรือนที่ง่ายต่อการหาอาหารและขยายพันธุ์

ก่อนหน้านี้มีหลายเหตุการณ์ที่งูรุกเข้าพื้นที่ปลดทุกข์ เช่น เหตุการณ์ที่งูเห่า ความยาวกว่า 1.5 เมตร เข้ามาอยู่ในห้องน้ำภายในบ้าน และยังมีกรณีอื่นๆ ที่งูเคยเข้าไปอยู่ในคอห่าน

จากสถิติของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร พบว่า 5 เขตที่จับงูได้มากที่สุดคือ เขตบางเขน จตุจักร สวนหลวง บางขุนเทียน และเขตบึงกุ่ม โดยงูที่พบมากที่สุดคือ งูเหลือม งูเห่า งูเขียวพระอินทร์ และงูทางมะพร้าว

คนถูกงูพิษกัดในไทยสูงเฉลี่ยปีละ 6,155 คน

ความเจ็บป่วย หรือพิการจากการถูกตัดอวัยวะและเสียชีวิตจากเหตุงูพิษกัด ยังคงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขของทั่วโลก เพราะแต่ละปีมีคนถูกงูพิษกัดประมาณ 2.7 ล้านคน เสียชีวิต 81,000 - 138,000 คน ส่วนหนึ่งในความสูญเสียนั้นเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย

ซึ่งจากรายงานระบาดวิทยาของกรมความคุมโรค ที่ระบุถึงอัตราความชุกของคนถูกงูพิษกัดในประเทศไทย พบว่าในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาแนวโน้มคนที่ถูกงูพิษกัดลดลงเรื่อยๆ อย่างในปี 2549 อยู่ที่อัตรา 13.25 ต่อประชากรแสนคน ลดลงมาอยู่ที่ 7.06 ต่อประชากรแสนคนในปี 2558

ในทางกลับกัน ตัวเลขคนถูกงูพิษกัดแต่ละปียังคงมีค่าเฉลี่ยสูงถึง 6,155 คน ส่วนใหญ่ถูกกัดในช่วงฤดูฝนต่อเนื่องถึงฤดูหนาว ที่เป็นช่วงทำงานเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกร แต่อย่างไรก็ตามคนที่อยู่ในเขตเมือง แหล่งชุมชนก็ประมาทไม่ได้จากสถานการณ์งูพิษกัด ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดในที่ที่หลายคนคิดว่าปลอดภัยที่สุดอย่างในบ้าน

แพทย์ย้ำให้เซรุ่มต้านพิษงูตามจำเป็น

หากถูกงูพิษกัดจะมีอาการปวดบวมรอบแผล หรือมีเลือดออกจากแผล คือข้อบ่งชี้สำคัญที่จะช่วยให้แพทย์ระบุได้ว่างูที่กัดมีพิษต่อระบบโลหิต ซึ่งพบในงูแมวเซา งูกะปะและงูเขียวหางไหม้ ที่พบมากที่สุดในประเทศไทย ขณะที่งูทีมีพิษต่อระบบประสาทคือ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยมและงูทับสมิงคลา จะทำให้คนที่ถูกกัดกล้ามเนื้ออ่อนแรง หนังตาตก จนถึงขั้นทำให้หยุดหายใจ

หากประชาชนถูกงูพิษกัด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาคลินิก ระบุว่า ควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดเท่านั้น ห้ามกรีด ดูดแผล และห้ามทำการขันชะเนาะ เพราะจะทำให้เกิดภาวะเนื้อตายจากการขาดเลือด บวมและเลือดออกที่แผลมากขึ้น จากนั้นรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

 

แม้ปัจจุบัน สถานเสาวภา สภากาชาดไทย สามารถผลิตเซรุ่มต้านพิษงูได้ครอบคลุม ทั้งงูพิษที่มีผลต่อระบบประสาทและระบบโลหิต แต่แพทย์จะใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้จำเป็นต้องให้เท่านั้น และถึงไม่มีวิธีใดบ่งบอกได้ว่าผู้ป่วยจะแพ้เซรุ่มหรือไม่ แต่ผลการศึกษาทางการแพทย์ก็พบว่าอาการแพ้เซรุ่มต้านพิษงูอย่างมีผื่น บวม เกิดขึ้นน้อยมาก ประมาณร้อยละ 5 และไม่เคยมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากอาการแพ้ ซึ่งแพทย์สามารถหยุดการให้เซรุ่มและให้ผู้ป่วยรับประทานยาแก้แพ้จนอาการดีขึ้นได้ หรืออาจให้เซรุ่มต่อ

ทั้งนี้ เซรุ่มต้านพิษงูอาจไม่ได้มีเก็บสำรองไว้ใช้อยู่ในทุกโรงพยาบาล แต่เซรุ่มต้านพิษงูทุกชนิดที่สถานเสาวภาผลิตได้ก็มีเพียงพอที่จะกระจายส่งต่อไปยังสถานพยาบาลในพื้นที่ในเวลาฉุกเฉินจำเป็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง