ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มข.คิดค้นนวัตกรรม "ปทุมรักษา" เพิ่มโอกาสรักษามะเร็งเต้านม

สังคม
1 ก.ค. 62
13:29
1,506
Logo Thai PBS
มข.คิดค้นนวัตกรรม "ปทุมรักษา" เพิ่มโอกาสรักษามะเร็งเต้านม
นักวิจัยภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คิดค้นนวัตกรรมปทุมรักษา เพื่อพัฒนาการจัดเก็บชิ้นเนื้อมะเร็งเต้านม ส่งผลให้การวินิจฉัยโรคได้แม่นยำและนำไปสู่การวางแผนรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วันนี้ (1 ก.ค.2562) ปัญหาการจัดเก็บชิ้นเนื้อผู้ป่วยมะเร็งเต้านมซึ่งก่อนหน้านี้ หลังผ่าตัดเต้านมเจ้าหน้าที่จะนำชิ้นเนื้อแช่ในฟอร์มาลีนเก็บไว้ในถุงพลาสติกก่อนจะนำส่งห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจวินิจฉัย ซึ่งมีข้อจำกัดด้านเวลา รวมถึงการขนส่ง ทำให้ชิ้นเนื้อของผู้ป่วยบางครั้งไม่คงสภาพ ส่งผลต่อการตรวจวินิจฉัยโรค ก่อนจะมีการคิดค้นกล่องปทุมรักษาซึ่งเป็นนวัตกรรมเก็บรักษาชิ้นเนื้อผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เพื่อให้เซลล์คงสภาพและสมบูรณ์ที่สุด


แพทย์ประจำภาควิชาพยาธิวิทยาโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คิดค้นนวัตกรรม "ปทุมรักษา" เพื่อพัฒนาการจัดเก็บชิ้นเนื้อมะเร็งเต้านม โดยนำชิ้นเนื้อของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เก็บรักษาไว้ในกล่องปทุมรักษามาตรวจเชลล์ภายในชิ้นเนื้อ เพื่อหาเซลล์มะเร็งก่อนนำไปทำสไสด์เพื่อส่งต่อให้แพทย์พยาธิวิทยาวินิจฉัยเพื่อวางแผนการรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง


รศ.พญ.สุพินดา คูณมี ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์มข. ระบุว่า วันหนึ่งมีเนื้อที่ผ่าตัดออกมาจากโรงพยาบาล เฉพาะมะเร็งเต้านม ประเทศไทยมีทั้งหมดกว่า 300 โรงพยาบาล แต่ห้องแล็ปที่ได้รับรองมาตรฐานที่ตรวจเซลล์มะเร็งเต้านมได้มีอยู่เพียง 32 ห้องแล็ปทั่วประเทศ

จาก 300 มาหา 30 ในแต่ละวัน จะต้องมีข้อจำกัดบางอย่างเกิดขึ้น นั่นก็คือการขนส่ง การจัดเก็บชิ้นเนื้อ ให้เซลล์ยังสามารถให้ข้อมูลได้เต็มที่ ตรวจเจอเได้ว่าพฤติกรรมเป็นอย่างไร ซึ่งพฤติกรรมนี้จะเป็นข้อมูลส่งให้แพทย์นำไปสู่การรักษาผู้ป่วย


สำหรับกล่องปทุมรักษาเป็นกล่องภาชนะเก็บชิ้นเนื้อของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม หลังแพทย์ทำการผ่าตัดเพื่อนำชิ้นเนื้อมาตรวจวินิจฉัยหาเชื้อมะเร็ง ด้านในจะมีการแบ่งช่องเพื่อให้น้ำยาแทรกซึมเข้าไปในชิ้นเนื้อเพื่อคงสภาพเซลล์ และมีชิปติดอยู่ที่ข้างกล่องเพื่อบอกระยะเวลาของชิ้นเนื้อที่ตัดต้องมีอายุไม่เกิน 72 ชั่วโมง

นพ.ธนศักดิ์ นำผล  แพทย์พยาธิวิทยา รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น ระบุว่า หากสามารถเก็บรักษาได้ดี จะมีประโยชน์ในแง่ของการเลือกวิธีการรักษา เนื่องจากขณะนี้มีการพัฒนาการรักษาขึ้นไปมาก และมีการใช้ยาต่างๆ ที่จำเพาะกับเซลล์มะเร็งมากขึ้น

หากมีการย้อมพิเศษที่มันติดสีดี บอกได้ชัดเจนว่าในชิ้นเนื้อของคนไข้คนนี้เป็นมะเร็งชนิดไหน หรือว่าอยู่ในขั้นไหน มันก็จะทำให้คนไข้ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เหมาะสม และเป็นประโยชน์กับคนไข้มากที่สุด 

ปัจจุบัน กล่องปทุมรักษาถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาล 14 แห่งทั่วประเทศ โดยพบว่าหลังการใช้กล่องปทุมรักษาทำให้การตรวจเซลล์มะเร็งเต้านมได้ผลอย่างแม่นยำและทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาที่เหมาะสมและมีอัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้น โดยในอนาคตทีมนักวิจัยอยากให้มีการขยายผลและต่อยอดนวัตกรรมเพื่อให้การวินิจฉัยเชื้อมะเร็งเต้านมได้ผลแม่นยำและผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง