จากกรณี รายการ Law of The Jungle ของเกาหลีใต้ได้มาถ่ายทำรายการตอนที่ 370 ในประเทศไทย ที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และมีการจับ "หอยมือเสือ" ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง 3 ตัวมาประกอบอาหารกิน จนนำไปสู่การดำเนินคดีตามกฎหมาย
หอยมือเสือ (GIANT CLAMS) เป็นหอยในกลุ่มหอยสองฝาที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีสีสันและลวดลายที่สวยงาม พบแพร่กระจายอยู่เฉพาะในทะลเขตร้อนแถบอินโดแปซิฟิกเท่านั้น ทั่วโลกพบหอยมือเสือ 8 ชนิด ปัจจุบันพบหอยมือเสืออาศัยอยู่ในในประเทศไทย 3 ชนิดคือ Tridacna squamosa, T. maxima และ T. crocea
ในอดีตพบว่าเคยมีหอยมือเสือชนิด T. gigas อาศัยอยู่ทางฝั่งทะเลอันดามันบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์และเกาะราชา ซึ่งหอยมือเสือชนิดนี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ปี ซึ่งจากการสำรวจปริมาณหอยมือเสือในธรรมชาติพบว่า หอยมือเสือชนิด T. squamosa มีจำนวนน้อยลงอย่างน่าเป็นห่วง
การเจริญเติบโตของหอยมือเสือในช่วงแรกๆ ค่อนข้างจะช้า อาจใช้ระยะเวลาหลายเดือนเพื่อเติบโตเป็นหอยขนาด 10-20 มม. ในเวลาหนึ่งปีหอยมือเสืออาจมีขนาดเพียง 20-40 มม. โดยมีงานวิจัยคาดการณ์อายุขัยของหอยมือเสือว่าอาจอยู่ในช่วงหลายร้อยปี จากการศึกษาวงปีจากเปลือกของหอยมือเสือ
ในอดีตหอยมือเสือจำนวนมากแต่ถูกเก็บมาใช้ในการอุปโภคและบริโภคอย่างแพร่หลาย ทั้งในระดับท้องถิ่นและเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะการนำมาประกอบอาหาร ซึ่งมีราคาแพง และนิยมนำเปลือกมาใช้ทำเครื่องประดับ รวมทั้งไข่มุก ซึ่งหอยมือเสือสามารถผลิตไข่มุกได้และมีราคาแพงกว่าไข่มุกธรรมดา เนื่องจากมีขนาดใหญ่และหายากมาก ส่วนหอยมือเสือขนาดเล็กนิยมนำมาเลี้ยงในตู้ปลาทะเลสวยงาม จนทำให้มีความเสี่ยงสูญพันธุ์ได้
ภาพ : สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
สถานะของหอยมือเสือในปัจจุบันจึงได้รับการขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ในบัญชีสัตว์สงวนและคุ้มครอง ประเภท 2 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 ห้ามล่า ห้ามมี และห้ามซื้อขาย ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท อีกทั้งยังได้รับการขึ้นบัญชีในรายชื่อสัตว์และพืชที่ใกล้สูญพันธุ์หรือหายากในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES)
ทั้งนี้ แม้ว่าหอยมือเสือได้ถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองแล้ว การฟื้นจำนวนของหอยมือเสือในธรรมชาติยังคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากข้อจำกัดของตัวหอยมือเสือเอง เช่น การเจริญเติบโตที่ช้า การมีตัวอ่อนเป็นแพลงก์ตอนซึ่งล่องลอยไปตามกระแสน้ำทำให้โอกาสที่จะกลับมาเจริญเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ในแหล่งเดิมเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย ประกอบกับจำนวนพ่อแม่พันธุ์ในธรรมชาติเองที่มีเหลือน้อยมาก ทำให้โอกาสฟื้นฟูจำนวนหอยตามธรรมชาติเกิดขึ้นได้ยาก เจ้าหน้าที่จึงต้องทำการเพาะขยายพันธุ์หอยมือเสือในที่เลี้ยงและนำกลับไปปล่อยยังแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ
ภาพ : สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
หอยมือเสือเครื่องบำบัดน้ำเสียให้ท้องทะเล
หอยมือเสือเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสาหร่ายซูแซนเทลลีซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่ผลิตออกซิเจน สารอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลให้กับหอยมือเสือเองแล้วยังเผื่อแผ่ให้ปลา และพืชบริเวณดังกล่าวอีกด้วย
กระบวนการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายที่อยู่ในตัวหอย จะดูดซึมเอาสารต่างๆ รวมทั้งของเสีย สิ่งที่ขับถ่ายจากสัตว์อื่นในระบบนิเวศ มาสังเคราะห์เป็นอาหาร และพลังงานที่เป็นประโยชน์ ทำให้หอยมือเสือเปรียบเสมือนทั้งโรงงานสร้างอาหารและโรงงานกำจัดของเสียไปพร้อมๆ กัน โดยหอยมือเสือกรองกินอาหารที่ลอยตามน้ำมา ดังนั้น หากมีฝุ่นตะกอนลอยมาตามน้ำหอยมือเสือจะทำหน้าที่ดูดกรองฝุ่นตะกอนเหล่านั้นไว้ ทำให้น้ำบริเวณนั้นใสสะอาดขึ้น
ขอบคุณข้อมูล :
- กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
- สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจ้งจับรายการ Law of The Jungle กิน "หอยมือเสือ" สัตว์คุ้มครอง
“Law of the Jungle” ขอโทษอย่างเป็นทางการ ปมจับหอยมือเสือ
"Law of the Jungle" ลักลอบขึ้นเรือจับหอยมือเสือ นอกพื้นที่ได้รับอนุญาต