วันนี้ (8 ก.ค.2562) นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วัยทำงานส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ในที่ทำงานไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากไม่มีการดูแลสุขภาพของตนเองที่เหมาะสมจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น โรคอ้วน เกิดจากขาดการออกกำลังกายและการกินอาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไป โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งระบบสืบพันธุ์ พบมากโดยเฉพาะในผู้หญิง เช่น มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม
นอกจากนี้ยังมีโรคจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ นำไปสู่การเกิดมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง หลอดเลือดสมองตีบ และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ รวมทั้งโรคเครียด วัยทำงานเป็นวัยที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากที่สุด ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากเรื่องเงิน
ทั้งนี้กรมอนามัย จึงได้ร่วมกับกรมสุขภาพจิต คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดทำหลักสูตรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพวัยทำงานและเนื้อหาวิชาด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพสำหรับผู้ปฏิบัติงานในคลินิกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพขึ้น เพื่อให้คนวัยทำงานมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องและเหมาะสม
ทำงานเกิน 40 ชม.ต่อสัปดาห์เสี่ยงอ้วนลงพุง-หมดไฟ
ด้าน นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลกระทบจากพฤติกรรมสุขภาพของวัยทำงานเป็นปัญหาที่ไม่ควรละเลย โดยพบคนวัยทำงานทั่วโลกอายุตั้งแต่ 20 กว่าปีขึ้นไป นอกจากเสี่ยงป่วยเป็นโรคแล้ว ยังเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน ทำให้จิตใจมีสภาพหดหู่ เกิดภาวะวิตกกังวล และนำไปสู่การเกิดโรคซึมเศร้าได้
ดังนั้นบริษัทองค์กร และหน่วยงานต่างๆ ควรส่งเสริมให้พนักงานหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ สร้างแรงจูงใจ เช่นส่งเสริมการออกกำลังกาย การบริหารจัดการอารมณ์ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ