วันนี้ (8 ก.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านขุนสมุทร ทั้ง 6 คน เดินทางไปโรงเรียนแห่งใหม่ชั่วคราว ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาการศึกษาตามแผน "ขุนสมุทรโมเดล" เป็นวันแรก
แต่กว่าจะถึงท่าน้ำเพื่อไปต่อเรือหางยาว เด็กๆ ต้องใช้เวลาเดินประมาณ 30 นาที ต่อด้วยการนั่งเรืออีก 15 นาที ทำให้ผู้ปกครองยังกังวลเรื่องการเดินทางในวันต่อๆ ไป
ทันทีที่ก้าวเข้าสู่รั้วโรงเรียนบ้านขุนสมุทรไทย เด็กทั้ง 6 คนที่เคยถูกเรียกว่าเด็กทะเล ก็ต้องเริ่มปรับตัวในฐานะ "นักเรียนทดลอง" โดย 1 เดือนจากนี้ ทุกความเปลี่ยนแปลงของพวกเขาจะถูกสังเกต บันทึก ประเมินผล ประกอบเป็นงานวิจัยเพื่อหาทางออกให้กับโรงเรียนที่พวกเขาจากมา
แม้ความแตกต่างของชุมชนจะเป็นหนึ่งในตัวกำหนดความแตกต่างทางการศึกษา แต่ในมุมของการบริหารการศึกษา เด็กกลุ่มนี้คือแบบฝึกหัดความเหลื่อมล้ำของภาครัฐ
นายอิทธิพัทธ์ ธีระวรรณสาร นายกสมาคมผู้บริหารสถานศึกษาสมุทรปราการ กล่าวว่า ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าโรงเรียนแห่งนี้จะเป็นเช่นไรในอนาคต แต่ครั้งนี้ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายร่วมกันของสังคม ที่ต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ชุมชน วัดและหน่วยงานต่างๆ
มันมีอะไรที่เราจะต้องมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันว่า สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ขุนสมุทรเป็นเช่นทุกวันนี้ เกิดจากสาเหตุอะไร เด็กน้อยลงเพราะอะไร แล้วเราจะมาหาจุดร่วมกัน
วันนี้ห้องเรียนที่โรงเรียนบ้านขุนสมุทรถูกปิดชั่วคราว แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนยังคงมาทำงาน นี่คือการนับหนึ่งของการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อเริ่มงานวิจัย แก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ฝังรากลึกมานาน สอดคล้องกับความคาดหวังของชาวชุมชนที่ไม่อยากให้ที่นี่ถูกทิ้งร้าง ดังนั้น "ขุนสมุทรโมเดล" จึงไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาการศึกษา แต่กำลังมีเดิมพันเป็นความยั่งยืนของชุมชน