วันนี้ (10 ก.ค.2562) นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) คาดการณ์ปรากฏการณ์เอล นิโญกำลังอ่อน มีแนวโน้มที่จะเกิดต่อเนื่องไปจนถึง ส.ค.นี้ จะทำให้มีปริมาณฝนตกน้อยตั้งแต่วันนี้ถึง 15 ก.ค.นี้ส่งผลเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
ทั้งนี้ สทนช.ได้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยใช้ข้อมูลฝนสะสมของกรมอุตุนิยมวิทยา และสสน. พบมีพื้นที่มีปริมาณฝนตกน้อยนอกเขตชลประทาน ที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำจำนวน 160 อำเภอ 21 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 34 อำเภอ 6 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 71 อำเภอ 8 จังหวัด และภาคใต้ 55 อำเภอ 7 จังหวัด ส่วนในสัปดาห์ที่ 3-4 ของเดือน ก.ค.นี้ ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นและมีฝนตกชุกหนาแน่น โดยเฉพาะภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก
สำหรับการคาดหมายปริมาณฝน 3 เดือนล่วงหน้า ตั้งแต่ก.ค.-ก.ย.นี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าปริมาณฝนรวม บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 5 ส่วนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันออก จะมีปริมาณฝนใกล้เคียงค่าปกติ แต่บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 5
เช็กปริมาณน้ำในอ่าง 129 แห่งน้ำน้อยต่ำกว่า 30%
ขณะที่สถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำทั้งประเทศ มีปริมาณน้ำรวม 39,622 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 49% โดยแหล่งน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ 38 แห่ง พบว่ายังไม่มีแหล่งน้ำที่มีน้ำมากกว่า 80% มีเพียงแหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์ระหว่าง 60-80% อยู่ในภาคตะวันออก และภาคใต้ รวม 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนรัชชประภา และเขื่อนบางลาง
ส่วนแหล่งน้ำขนาดกลางความจุ 2 ล้านลบ.ม.ที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 100% มีเพียงแห่งเดียวคือ อ่างเก็บน้ำด่านชุมพล จ.ตราด ปริมาณน้ำ 80-100% จำนวน 11 แห่ง และปริมาณน้ำ 60-80% จำนวน 37 แห่ง ซึ่งมีการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ในพื้นที่โดยไม่กระทบทั้งเสี่ยงท่วมและแล้ง
ขณะที่แหล่งน้ำขนาดใหญ่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังน้ำน้อยกว่า 30% มี 15 แห่งแบ่งเป็น ภาคเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนน้ำพุง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำนางรอง
ภาคตะวันออก 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนขุนด่านปราการขล เขื่อนคลองสียัด เขื่อนนฤบดินทรจินดา ภาคกลาง 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว และบึงบอระเพ็ด
แหล่งน้ำขนาดกลางน้ำน้อยกว่า 30% จำนวน 129 แห่ง ภาคเหนือ 15 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 89 แห่ง ภาคตะวันออก 9 แห่ง ภาคกลาง 11 แห่ง ภาคตะวันตก 2 แห่ง และภาคใต้ 3 แห่ง
นายสมเกียรติ ระบุว่า จากสภาพความแปรปรวนของสภาพอากาศ ที่มีทั้งพื้นที่เสี่ยงที่จะประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง และฝนตกหนักในบางพื้นที่ สทนช. ได้กำชับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมชลประ ทาน และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ทบทวนการคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่าง ปรับแผนการจัดสรรน้ำจนสิ้นสุดฤดูฝน
รวมถึงคาดการณ์ถึงแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งหน้าด้วย เนื่องจากพบว่าปริมาณฝนตกในเดือน มิ.ย.นี้ น้อยกว่าคาดการณ์ถึงร้อยละ 30 ประกอบกับปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างทั่วประเทศ จากพายุมูนมีปริมาณน้อยมากเช่นกัน