นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข ในฐานะนายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมสอบสวนโรคลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต และพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อสอบสวนโรค พบว่าขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าชาวออสเตรเลียทั้ง 2 ติดเชื้อปรสิตจากการรับประทานอาหารที่เมืองไทยหรือไม่
จากข้อมูลพบว่า 3 ปีที่ผ่านมาไม่มีรายงานผู้ป่วยจากเชื้อโรคนี้ในจ.ภูเก็ต ขณะที่ทั่วประเทศพบผู้ติดเชื้อไดเอนตามีบา ฟราจิลิส ที่ทั้งคู่กล่าวอ้างว่าแพทย์ที่ออสเตรเลียวินิจฉัยว่าติดเชื้อตัวนี้ไม่ถึง 10 คน
ส่วนโอกาสที่เกิดจากกินผัดไทยมีน้อยหรือแทบไม่มีเลย เพราะเป็นอาหารที่ปรุงสุก ผักที่เป็นองค์ประกอบไม่น่าจะมีโอกาสติดเชื้อ อีกทั้งไทยมีระบบการตรวจสอบเรื่องอาหาร ตรวจสอบร้านอาหารอย่างสม่ำเสมอ
ขณะที่ นพ.ธนิศ เสริมแก้ว สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตกล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมควบคุมโรคและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต จะประสานข้อมูลกับทุกโรงพยาบาลใน จ.ภูเก็ต เพื่อค้นหาข้อมูลย้อนหลังว่า มีผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้เข้ามารักษาตัวหรือไม่ นอกจากนี้จะได้มีการประสานกับประเทศออสเตรเลียเพื่อสอบถามข้อมูลและให้เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบเรื่องสุขาภิบาลอาหารอย่างเข้มข้นเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว
นักเวชศาสตร์ ยันเป็นไปยากเชื้ออยู่ร่างกายนาน 2 ปี
ด้าน รศ.องอาจ มหิทธิกร หัวหน้าภาควิชาพยาธิ โปรโตซัว คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เชื้อปรสิตไดเอนตามีบา ฟราจิลิส สามารถเจอได้ทุกพื้นที่ทั่วโลกไม่ใช่แค่ในไทย แต่ไม่อยู่ในอาหารปรุงสุก ส่วนการระบุว่า เชื้ออยู่ในร่างกายถึง 2 ปีเป็นไปได้ยาก เพราะหากร่างกายแข็งแรงแต่มีเชื้อในร่างกายมีการขับถ่ายออกประมาณ 1 สัปดาห์เชื้อก็หมดแล้ว
ส่วนผลกระทบที่เกิดจากข่าวดังกล่าวนายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ เชื่อว่ามีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทยและ จ.ภูเก็ต อย่างแน่นอน จึงควรวางมาตรการเรื่องการดูแลสุขอนามัยร้านอาหาร Street Food ต้องบังคับการใช้กฎหมายอย่างจริงจัง