วันนี้ (12 ก.ค.2562) นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า การศึกษาชิ้นส่วนของไดโนเสาร์ที่ขุดค้นพบใน อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น ทำให้ได้พบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลกในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นสายพันธุ์ที่ 10 ของประเทศ
สำหรับไดโนเสาร์สายพันธุ์นี้ มีชื่อว่า "ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ" (PHUWIANG VENATOR YAEMNIYOMI) หมายถึง ไดโนเสาร์นักล่าแห่งเทือกเขาภูเวียง ส่วนแย้มนิยมมิ ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้แก่ คุณสุธรรม แย้มนิยม อดีตข้าราชการกรมทรัพยากรธรณี ผู้ค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ชิ้นแรกของประเทศไทย ที่อุทยานแห่งชาติภูเวียงเมื่อ 40 กว่าปีก่อน อันนำมาสู่การศึกษาวิจัยไดโนเสาร์ในประเทศไทยในเวลาต่อมา
นายสมหมาย ยังระบุว่า กรมทรัพยากรธรณี จะร่วมสนับสนุนการศึกษาวิจัยและขุดค้นกระดูกชิ้นส่วนของไดโนเสาร์ตัวนี้เพิ่มเติม พร้อมทั้งต้องมีการเตรียมมาตรการ เพื่อดูแลรักษามรดกของโลกเหล่านี้ให้คงอยู่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชนต่อไป
มุ่งมั่นศึกษาหวังเจอไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ของโลก
นายอดุลย์ สมาธิ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผู้ศึกษาวิจัยกระดูกชิ้นส่วนของภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ ระบุว่า ได้เห็นชิ้นส่วนของไดโนเสาร์กินเนื้อ ซึ่งประกอบด้วย กระดูกสันหลังส่วนสะโพก กระดูกมือ และเล็บ กระดูกหน้าแข้ง ข้อเท้า ฝ่าเท้า และเท้า ซึ่งถูกขุดค้นพบตั้งแต่ปี 2536 จึงทำให้สนใจศึกษา เพราะจากการพิจารณาเบื้องต้น มั่นใจว่าเป็นไดโนเสาร์ที่มีลักษณะพิเศษ และมีแนวโน้มว่าจะเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก
ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี
นายอดุลย์ ระบุว่า ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ มีลำตัวยาวประมาณ 6 เมตร โดยพบในชั้นหินทรายสีแดงของหมวดหินเสาขัว อายุประมาณครีเทเชียสตอนต้น 130 ล้านปี
นอกจากนี้ ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเมกะแรพเตอรา เนื่องจากมีลักษณะทั่วไปคล้ายไดโนเสาร์อื่นๆ ในกลุ่มเมกะแรพเตอรา คือ มีขาหน้าและขาหลังที่ยาว บ่งบอกถึงการวิ่งเร็ว มีกรงเล็บใหญ่ กะโหลกเรียวกว่าที่พบในไดโนเสาร์กินเนื้อทั่วไป
หวังขุดค้น "ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ" เพิ่มเติม
ดร.สุรเวช สุธีธร อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา ด้านไดโนเสาร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระบุว่า กระดูกไดโนเสาร์ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมี ได้มาจากการขุดค้นที่หลุม 9 B ซึ่งถูกพบตั้งแต่ปี 2536 และถูกนำมาศึกษาวิจัยในปี 2562 ทำให้พบว่า ประเทศไทยมีไดโนเสาร์สายพันธุ์แรพเตอร์ขนาดใหญ่และเป็นชนิดใหม่สกุลใหม่ของโลก
ตัวใหม่นี้ค้นพบได้กว่า 30 ปีแล้ว แต่เจอเพียงไม่กี่ชิ้น จึงเก็บไว้ในคลัง จนปี 2562 มีนักศึกษาที่สนใจศึกษาเรื่องสัตว์กินเนื้อ จึงหยิบกระดูกออกมาวิจัย ซึ่งลักษณะพิเศษของไดโนเสาร์กลุ่มนี้ สามารถจำแนกและบอกได้ว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก
ดร.สุรเวช ระบุว่า ก่อนหน้านี้ที่ภูเวียงมีการค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อหลายตัว ซึ่งเทียบแล้วใกล้เคียงกับกลุ่มของทีเร็กซ์ เป็นไดโนเสาร์นักล่าจากทางอเมริกาเหนือ แต่ตัวที่เจอตัวใหม่จะแตกต่างจากตัวเดิมๆ ที่เคยเจอ เป็นนักล่าขนาดกลางๆ
ในอนาคตทางทีมนักวิจัยได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่เพื่อขุดค้นซากของภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิเพิ่มเติม เนื่องจากสภาพกระดูกที่พบสมบูรณ์มาก จึงคาดหวังว่าจะสามารถเจอกระดูกส่วนอื่นเพิ่มเติมอีก เพื่อขยายผลไปถึงความสัมพันธ์กับไดโนเสาร์ตัวอื่นๆ
9 ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ในไทย
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ เคยมีการขุดพบฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ในประเทศไทยแล้วกว่า 16 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก 9 ชนิด ได้แก่
- ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus Sirindhornae)
- กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส (Kinnareemimus Khonkaennsis)
- สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส (Siamotyrannus Isanensis)
- สยามโมซอรัส สุธีธรนิ (Siamosaurus Suteethorni)
- อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ (Isanosaurus Attavipachi)
- ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ (Psittacosaurus Sattayaraki)
- สยามโมดอน นิ่มงามมิ (Siamodon Nimngami)
- สิรินธรนา โคราชเอนซิส (Sirindhorna Khoratensis)
- ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ (Ratchasimasaurus Suranareae)