วานนี้ (12 ก.ค.2562) นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ร่วมเปิดศูนย์ข้อมูลอุทยานธรณีขอนแก่น หรือ GEO PARK Khonkhaen ในพื้นที่ อ.เวียงเก่า และ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับไดโนเสาร์ในภาคอีสาน โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ภูเวียง ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยเดิมของไดโนเสาร์หลากหลายสายพันธฺุ์ เนื่องจากเป็นจุดค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลกถึง 5 สายพันธุ์
นายสมหมาย ระบุว่า ฟอสซิลของไดโนเสาร์ถือเป็นมรดกทางธรณีวิทยาของประเทศ จึงต้องมีการเก็บรักษาเป็นอย่างดี ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ทางการศึกษาของเยาวชนและเป็นวัตถุดิบสำหรับการศึกษาวิจัย
หากประเทศไทย โดยเฉพาะที่ภาคอีสานสามารถค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจกลายเป็นอันดับ 1 ของเอเชียได้ ขณะที่ตอนนี้เราก็เป็นที่ 1 ของอาเซียนแล้ว
อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า จากนี้จะมีการทยอยขึ้นทะเบียนคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ให้ครบถ้วน และจะมีการตั้งอนุกรรมการคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์เพื่อดูแลโดยตรง และนำไปสู่การจัดการอย่างยั่งยืน
ภูเวียงไปสู่ระดับโลกได้ ซึ่งต้องผ่านการศึกษาวิจัยอย่างเข้มข้น เพื่อให้ผ่านการพิจารณาของยูเนสโก ขอนแก่นมีจุดแข็งที่คนในพื้นที่จริงจัง โดยในปีนี้ หากสามารถผ่านการคัดเลือกระดับประเทศได้ จะถือเป็นก้าวสำคัญสู่อุทยานธรณีโลก
5 ไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ของโลกเป็นการค้นหาเพียง 10% ในภูเวียง
ดร.สุรเวช สุธีธร อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา ด้านไดโนเสาร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระบุว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่า ภูเวียงเป็นพื้นที่วางไข่ของไดโนเสาร์ ซึ่งอุดมสมบูรณ์มาก เนื่องจากได้ค้นพบทั้งไดโนเสาร์กินเนื้อ และไดโนเสาร์กินพืช นอกจากนี้ยังพบตั้งแต่ลูกไดโนเสาร์ที่ออกจากไข่ไปจนถึงไดโนเสาร์รุ่นปู่ รุ่นย่า ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่สำคัญมาก
เราเจอไดโนเสาร์ที่ภูเวียง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลกแล้ว 5 ตัว ทั้งตัวเล็กเท่าไก่ ตัวใหญ่เท่าช้าง ซึ่งเหมือนเป็นพื้นที่อนุบาลไดโนเสาร์ที่อุดมสมบูรณ์มาก
ดร.สุรเวช ยังระบุว่า ที่ผ่านมาการขุดค้นและศึกษาไดโนเสาร์ที่ภูเวียงนั้น มีหลุมขุดทั้งหมด 9 หลุม ซึ่งได้ค้นพบทั้งไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ ชนิดใหม่ และมีชิ้นส่วนเกือบครบสมบูรณ์ แต่ทั้งหมดนี้คาดว่ายังไม่ถึงร้อยละ 10 ของไดโนเสาร์ที่มีอยู่ในภูเวียง ดังนั้น หากมีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังก็คาดว่าในอนาคตประเทศไทยอาจมีไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลกอีกจำนวนมาก
สตูลโมเดล ต้นแบบอุทยานธรณีโลก
ดร.ป้องศักดิ์ ทองเนื้อแข็ง รองผู้อำนวยการอุทยานธรณีโลกสตูล ระบุว่า อุทยานธรณีโลกนั้น ต้องเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางธรณีวิทยา ซึ่งนำไปสู่การจัดการและการพัฒนาอย่างยั่งยืน การจะผลักดันภูเวียงไปสู่ระดับโลกนั้น จำเป็นต้องมีความพร้อมในหลายด้าน โดยอาจยึดสตูลโมเดล เพื่อเตรียมความพร้อม โดยกรมทรัพยากรธรณีได้ช่วยเหลือด้านข้อมูลงานวิจัยแล้ว ดังนั้น ทุกภาคส่วนก็ต้องร่วมมือกัน โครงสร้างการบริหารที่ดีเป็นสิ่งจำเป็น การมีส่วนร่วมของชุมชนก็เป็นเรื่องสำคัญ
ให้ชุมชนมีส่วนร่วม มีการนำเที่ยว ให้เด็กในพื้นที่ได้เรียนรู้ พาไปดูฟอสซิลของจริง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ ซึ่งที่สตูลโรงเรียนมัธยมฯ และประถมฯ เริ่มมีการปรับหลักสูตรเพื่อให้เด็กได้ศึกษาเรียนรู้ไดโนเสาร์อย่างจริงจังแล้ว
ดร.ป้องศักดิ์ ระบุอีกว่า ยูเนสโก ซึ่งเป็นผู้พิจารณาอุทยานธรณีโลกนั้น ให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ดังนั้น ควรมีการจัดการจากชุมชน สนับสนุนอาสานำเที่ยว มีการปลูกพืชเศรษฐกิจที่ผูกโยงกับธรณีวิทยาในชุมชน มีการผูกโยงวัฒนธรรม เช่น การปลูกฝ้ายจากหินโบราณ รวมถึงการพัฒนาไดโนเสาร์ 5 สายพันธุ์ใหม่ของโลกที่พบที่ภูเวียงเป็นหุ่นให้ทุกคนผ่านไปมาได้พบเห็น นำไปทำเป็นชุดยูนิฟอร์มของหน่วยงานในพื้นที่ด้วยก็จะยิ่งเป็นรูปธรรมมากขึ้น
อบจ.เองก็ต้องร่วมออกงบสร้างป้ายขนาดใหญ่ เพื่ออธิบายเรื่องราวและโปรโมตด้วย เพราะยูเนสโกให้ความสำคัญกับการสื่อความหมายมาก หากทำได้ทั้งหมดนี้ อุทยานธรณีโลกก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน