จากกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์ วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับภาพเด็กหญิงคนหนึ่งที่ถูกทาอายแชโดว์สีดำรอบตา จากเฟซบุ๊กของคุณแม่ พร้อมระบุว่า "ลองแล้วได้ผล ลูกเล่นโทรศัพท์ แอบทาอายแชร์โดว์สีดำตอนหลับ ตื่นขึ้นมาเห็นตัวเองร้องไห้ จึงบอกว่า เพราะเล่นมาก ตาถึงเป็นแบบนี้ ไม่เอา ไม่เล่นแล้ว #แอบสงสารและอดขำไม่ได้"
วานนี้ (14 ก.ค.2562) พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เตือนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก เลี้ยงลูกนอกบ้าน โดยระบุว่า มีการแชร์ข่าววิธีการแก้การติดมือถือของเด็กๆ ด้วยการแนะนำให้เอาอายแชโดว์ทารอบตาตอนเด็กหลับให้ดูน่ากลัว พอเด็กๆ ตื่นมาแล้วตกใจ ก็ให้บอกไปว่าเป็นจากการเล่นมือถือที่มากเกิน
วิธีการนี้กำลังเป็นที่นิยมในหมู่พ่อแม่ ทำไมเด็กติดมือถือ
- ผู้ใหญ่หยิบยื่นให้ในวัยที่ยังไม่ควร
- ผู้ใหญ่ปล่อยให้เล่นไปแบบไม่เคยมีกฏ กติกา
- ไม่มีผู้ใหญ่พาไปทำอะไรที่สนุกกว่า
- ผู้ใหญ่กลัวเสียงร้องไห้ ไม่อยากขัดใจ กลัวลูกหลานไม่รัก
- ผู้ใหญ่เอามาฝึกนิสัย ให้กินข้าว ให้อาบน้ำ ให้นั่งนิ่งๆ
- ผู้ใหญ่รู้สึกสบาย เพราะจะได้หันไปที่หน้าจอเหมือนๆ กัน
ติดหน้าจอ ปัญหาเด็กหรือผู้ใหญ่?
สำหรับปัญหาการติดหน้าจอของเด็กๆ นั้น เป็นปัญหาของผู้ใหญ่ การโกหก หลอก ขู่ ทำให้เด็กๆ หวาดกลัว เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเพราะสุดท้ายพอลืมไปหรือหายกลัว เด็กก็กลับไปติดหน้าจอใหม่ เพราะปัญหาที่ผู้ใหญ่ ไม่เคยได้รับการแก้ไขหรือถูกมองเห็น ซึ่งการใช้วิธีที่กล่าวมา เด็กหลายคนกลายเป็นเด็กหวาดระแวง หวาดกลัว ถดถอย งอแงง่าย จากความกลัวในสิ่งที่เผชิญ ที่สำคัญ คือ เสียโอกาสเรียนรู้ที่จะอยู่กับกติกา ฝึกวินัย และฝึกการ “ควบคุมตัวเอง” ด้วยความเข้าใจในเหตุผล
เราอาจจะได้เด็กที่ไม่กล้าเล่นมือถือในระยะสั้นๆ แต่เราอาจจะได้เด็กขี้กลัว งอแงง่าย ไปจนถึงกับ phobia และที่เลวร้าย อาจกลายเป็นเด็กที่ไม่เชื่อถือผู้ใหญ่ของตัวเอง อย่าทำเลย ปรับที่ตัวเองช่วยลูกเรื่องการฝึกวินัยอาจไม่ง่ายแต่ยั่งยืนกว่าเยอะ
"เด็กเล็ก" กับจินตนาการและความกลัว
สอดคล้องกับ พญ.เบญจพร ตันตสูติ หรือหมอมิน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เข็นเด็กขึ้นภูเขา" เกี่ยวกับกรณีการขู่หรือหลอกเด็ก โดยระบุว่า เพราะเหตุใดผู้ใหญ่จึงไม่ควรใช้การหลอกหรือขู่ให้กลัวในการสอนเด็ก วันนี้มีข่าวที่ทำให้หมอคิดว่าอยากจะเขียนบทความนี้ เพราะหลายๆ คนคิดว่าการหลอกหรือการขู่ อาจจะเป็นวิธีที่ทำได้
ตรงนี้อยากจะทำความเข้าใจ เพราะหมอคิดว่าพ่อแม่ทุกคนรักลูก แต่อาจจะไม่เข้าใจและไม่ทราบว่าการหลอกหรือการขู่มีผลเสียอย่างไรบ้าง
บ่อยครั้งที่พบเห็นว่าความกลัวของเด็กกลายเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ใช้แกล้งหยอกเย้าเด็กด้วยความสนุกสนาน หรือคิดว่าควรจะขู่ให้กลัวเด็กจึงจะเชื่อแต่จริงๆ แล้ว ความกลัวมีความหมายเสมอ ไม่มีใครชอบความรู้สึกกลัว ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่
ยิ่งเมื่อความกลัวเกิดขึ้นกับ “เด็กเล็กๆ” ที่การพัฒนาทางความคิดยังไม่ดีเหมือนเด็กโต การแปลความหมายของสิ่งที่รับรู้ยังไม่ถูกต้องตามความจริง ความกลัวก็ยิ่งบั่นทอนความรู้สึก และส่งผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาวหากความกลัวนั้นรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
ตามทฤษฎีของ Piaget พูดถึงเด็กในวัย 2-7 ปีว่าเป็นช่วง Preoperational stage ซึ่งเด็กจะมีลักษณะความคิดที่มีจินตนาการ (fantasy) มาก ซึ่งความมีจินตนาการของเด็ก เป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์ แต่บางครั้งการที่ยังแยกแยะเรื่องจริงกับจินตนาการไม่ได้เด็กเล็กๆ จึงมักมีความกลัวบางอย่างที่ผู้ใหญ่รู้สึกว่าไม่มีเหตุผล
ความกลัวของเด็กนั้น แม้จะดูไร้สาระในสายตาของผู้ใหญ่แต่มันก็มีความหมายและควรให้ความสำคัญ เช่น เด็กบางคนกลัวว่าเวลานั่งโถส้วมจะถูกดูดลงไปในโถ เด็กบางคนคิดว่าใบกล้วยนอกหน้าต่างตอนกลางคืนเป็นมังกรยักษ์ในนิทาน ฯลฯ
เวลาที่ผู้ใหญ่หลอกอะไรเด็กเล็ก หรือขู่ให้กลัว เด็กก็มักจะปักใจเชื่อจริงๆ เช่น มีแม่คนหนึ่งขู่เด็กว่าถ้าเป็นเด็กดื้อ เดี๋ยวแม่จะออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่น ตั้งแต่นั้นเด็กก็ไม่ยอมไปโรงเรียน เพราะกลัวว่าแม่จะหนีจากเขาไป
ยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือสวัสดิภาพของตัวเองกับคนที่เขารัก เช่น พ่อแม่ เด็กจะกลัวมากขึ้นเป็นหลายเท่า บางครั้งความกลัวก็ทำให้เด็กฝันร้าย นอนไม่หลับ
"ความกลัว" ที่โตตามตัว
แม้จะไม่มีเหตุผลนัก แต่ความกลัวของเด็กก็มีอยู่จริง และมันอาจจะส่งผลกระทบกับเด็กบางคนจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ เช่น ผู้ใหญ่คนหนึ่งที่เป็นโรคกลัวที่แคบ เมื่อย้อนประวัติไปในวัยเด็กก็พบว่า ตอนเล็กๆ ถูกพ่อแม่ขังไว้ในห้องเก็บของมืดๆแคบๆอยู่หลายชั่วโมง
ผู้ใหญ่บางคนคิดว่าการแกล้งเด็กเป็นเรื่องสนุกขำขัน แล้วก็ให้เหตุผลว่า “ก็เขายังเด็ก ไม่รู้เรื่องอะไรหรอก” ผู้ใหญ่หลายคนรักและเอ็นดูเด็ก แต่ผู้ใหญ่น้อยคนที่มีความละเอียดอ่อนกับความคิดความรู้สึกของเด็ก
บางคนอาจจะบอกว่า ตอนที่เป็นเด็กไม่เห็นคิดอะไรมากมายอย่างที่หมอพูด ก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะเด็กแต่ละคนต่างกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้าตอนคุณยังเป็นเด็ก ไม่กลัวอะไรแบบนี้ เด็กคนอื่นก็ต้องไม่กลัวเหมือนคุณ
ความกลัวถ้าเกิดขึ้นรุนแรงและบ่อยครั้งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางใจ มีผลกระทบกับความรู้สึกไม่เชื่อมั่นในตัวเอง การมองโลกในแง่ร้าย ภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า ซึ่งหมอเชื่อว่า ไม่มีพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเด็กคนไหนตั้งใจอยากให้เด็กเป็นแบบนั้น
หยุดแกล้งให้เด็กกลัว จนทำให้กลายเป็นความทรงจำที่ฝังใจเลย โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นคนที่เด็กรักและเชื่อใจ
ทั้งนี้ หากต้องการให้เป็นเด็กดีให้เชื่อฟัง อย่าใช้วิธีข่มขู่หรือหลอกลวง ควรบอกตรงๆ ว่าผู้ใหญ่อยากให้ทำอะไร ตรงนั้นจะดีกว่า และจะทำให้สัมพันธภาพในระยะยาวดีด้วย