หลังจากไทยพีบีเอสนำเสนอว่าโครงการปรับขยายทางช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย มีการออกแบบผิวถนนบางกว่าที่ควรจะเป็น วันนี้แหล่งข่าวกรมทางหลวง นำข้อมูลการขยายทางบนถนนเส้นเดียวกันเมื่อปี 2549 มาเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจน
ปี 2549 มีการปรับขยายถนนบนเส้นทางเดียวกัน แต่เป็นปรับขยายทางช่วงก่อนถึงวังมะนาว ซึ่งตามแบบมีผิวถนนหนาถึง 20 เซนติเมตร แม้จะเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตชนบท
ขณะที่การออกแบบก่อสร้าง-ขยายถนนช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ขณะนี้มีการออกแบบผิวถนนบางเพียง 13 เซนติเมตร ทั้งที่มีการจราจรหนาแน่น ซึ่งกรมทางหลวงประเมินว่มมีรถสัญจรกว่าวันละ 1 แสน 8 หมื่นคัน
นอกจากนี้เมื่อตรวจสอบเอกสารโครงการปรับขยายทางปัจจุบัน พบว่า บริษัทผู้รับเหมา เคยส่งเรื่องร้องเรียนถึงกรมทางหลวง ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2561 เพื่อขอให้ทบทวนและแก้ไขแบบ โดยเฉพาะการปรับผิวถนนให้หนาขึ้น สอดคล้องกับการจราจรที่หนาแน่นบนเส้นทางพระราม 2 และมีรถบรรทุกเข้า-ออกโรงงานเกือบ 10,000 แห่ง
ผู้รับเหมาตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทเอกชนผู้ออกแบบโครงการ ประเมินลักษณะกายภาพของถนนพระราม 2 ผิดพลาด เช่น ผู้ออกแบบประเมินว่า ปี 2563 จะมีรถสัญจรผ่านถนนเส้นนี้เพียงวันละ 1 หมื่น 2 พันคัน แต่ปัจจุบัน(ปี2562) มีรถสัญจรผ่านถนนเส้นนี้กว่า 180,000 คัน หรือประเมินผิดจากความเป็นจริงเกือบ 10 เท่า นอกจากนี้การออกแบบ ยังกำหนดค่า CBR หรือดัชนีที่ใช้เทียบการรับน้ำหนักของถนนต่ำกว่าความเป็นจริงด้วย
มีรายงานการแก้ไขแบบอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมทางหลวง แต่ติดเงื่อนไขทางกฎหมาย เพราะ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (แก้ไข ปี2560) กำหนดให้ "ผู้มีอำนาจ" เป็นผู้เซ็นแก้ไขแบบ ซึ่งต้องตีความว่าเป็นผู้มีอำนาจ คือ อธิบดีกรมทางหลวง หรือปลัดกระทรวงคมนาคม
แต่การแก้แบบเป็นสาเหตุหลักที่โครงการไม่คืบหน้า เพราะผู้รับเหมาไม่สามารถเดินหน้าโครงการได้ และไม่สามารถเบิกงบประมาณมาดำเนินการด้วย
ขณะที่การประท้วงของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบบริเวณวัดพันท้ายนรสิงห์ช่วงเช้าที่ผ่านมา ประกอบกับข่าวสารที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน ส่งผลให้ผู้บริหารของกรมทางหลวงลงพื้นที่ติดตามแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ด้วยตัวเองแล้ว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถนนพระราม 2 สร้างไม่รู้จบ หวั่นซ้ำรอยยุค “ถนนเจ็ดชั่วโคตร”