ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผลตรวจสาวอ่างทองตาย จากยาลดอ้วนผสมไซบูทรามีน

อาชญากรรม
20 ก.ค. 62
12:41
2,654
Logo Thai PBS
ผลตรวจสาวอ่างทองตาย จากยาลดอ้วนผสมไซบูทรามีน
สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจสรุปผลตรวจทางพิษวิทยา น.ส.มรกต เจริญกิจ เสียชีวิตจากกินยาลดอ้วน พบสาร 3 ชนิดคือไซบูทรามีน ฟลูออกซิทีน และบิซาโคดิล ในร่างกายผู้เสียชีวิต โดยทั้ง 3 ชนิดมีส่วนและเป็นปัจจัยทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

วันนี้ (20 ก.ค.2562) พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะแถลงผลการตรวจหาสารไซบูทรามีนในยาลดความอ้วนกรณี น.ส.มรกต เจริญกิจ แม่ลูกอ่อน จ.อ่างทอง ที่กินยาแล้วเสียชีวิต

พ.ต.อ.นพ.ธนิต จิรนันท์ธวัช ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุกรรม โรงพยาบาลตำรวจ  กล่าวว่า พบว่าผู้เสียชีวิต มีอาการปอดบวม คั่งบวมน้ำ แปลว่าในการผ่าพิสูจน์ตัวเนื้อปอดมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีภาวะชุ่มน้ำมากขึ้น และเมื่อตรวจเซลล์ภายใน จะพบว่ามีน้ำแพร่กระจายมากขึ้น

อาการปอดบวมน้ำ เกิดจากการที่ภาวะเลือดจากปอดกลับเข้าสู่หัวใจไปไม่ได้ เนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลว พอหัวใจล้มเหลวจะปั้มเลือดไปไม่ได้ ปอดกลับไปหัวใจ กลับไปสู่ร่างกาย ทำให้ระบบหัวใจวาย เป็นสาเหตุที่ตรวจพบในผู้ป่วยคนนี้  

 

ขณะที่ พ.ต.อ.ปกรณ์ วะศินรัตน์ กลุ่มงานนิติพยาธิ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า จากผลการตรวจเมื่อ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา มีการวินิจฉัยทางคลินิก พบว่ามีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ขณะที่สถาบันฯ รับมาตรวจทางนิติเวช ได้มีการตรวจทางร่างกาย มีภาวะบวมน้ำของปอด และมีภาวะไขมันในตับ ในส่วนภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นการวินิจฉัย ไม่สามารถตรวจพบได้ทางนิติเวช จึงได้ตรวจสอบทางพิษวิทยาเพิ่ม เพื่อหาว่ามีปัจจัยที่สนับสนุนภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้บ้าง

พบว่าการตรวจทางพิษวิทยามีสารไซบูทรามีน ฟลูออกซิทีน และบิซาโคดิล ในร่างกายผู้เสียชีวิต และสารทั้ง 3 ชนิด ซึ่งมีส่วน และเป็นปัจจัยทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ทางสถาบันนิติเวช สรุปว่าสาเหตุการเสียชีวิตว่าเข้ากับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

เจอสารอันตรายในยาลดอ้วนต้นเหตุเสียชีวิต

นอกจากนี้ พ.ต.อ.นพ.ธนิต ยังระบว่า จากการตรวจตัวยา 1 ชุด ประกอบด้วยยา 7 เม็ดที่ผู้ตายรับประทาน พิสูจน์พบสารไซบูทรามีน 1 ชนิด และตัวสารอื่นๆ อาทิ ฟลูออกซิทีน บิซาโคดิล ไฮโดรคลอไรต์ไทอะไซต์  เมื่อรับประทานไปทั้งหมดจะทำงานเสริมฤทธิ์กันเป็นอย่างดี โดยจะมีอาการใจสั่น ความดันโลหิตสูง นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย เพิ่มภาวะการเต้นของหัวใจ เลือดไปหล่อเลี้ยงสมองไม่ทัน และทำให้ไม่อยากอาหารด้วย

ภาพ:สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ภาพ:สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ภาพ:สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

เตรียมประสานกองทุนยุติธรรมเยียวยาผู้เสียชีวิต

ด้านภญ.ณปภา ศุภศิริกฤตกุล เภสัชกรเชี่ยวชาญด้านวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่ายาลดความอ้วนที่ผู้เสียชีวิตกิน ได้นำส่งสำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขตรวจ ทดสอบ 7 ชนิด มีผลการตรวจสอบพบ ไซบูทรามีน 1 ชนิด เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 (ลำดับที่ 20 ) ตามความใน พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559,

ฟูลออกซิทีน 2 ชนิด เป็นยาจำพวกสงบประสาท จัดเป็นยาแผนปัจจุบันประเภทยาอันตราย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องยาอันตราย ข้อ 3 (28) และ บิซาโคดิล 2 ชนิด เป็นยาระบาย และไฮโดรคลอไรด์ไทอะไซด์ เป็นยาจำพวกขับปัสสาวะ จัดเป็นยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาอันตราย และพบยาแผนโบราณไม่ทราบชนิด อีก 1 ตัวอย่าง

สำหรับกรณีนี้ ทางตำรวจจะประสานกระทรวงยุติธรรม เพื่อชดเชยค่าเสียหายแก่ผู้เสียชีวิต เนื่องจากไม่ได้มีส่วนร่วมการกระทำความผิดด้วย จะได้รับค่าชดเชยในคดีอาญาสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับ "หมอเดียร์" เจ้าของสูตรยาลดน้ำหนักทำหญิงแม่ลูกอ่อนเสียชีวิต

จ่อแจ้งความเพจขายยาลดน้ำหนัก หลังหญิง 30 ปี เสียชีวิต

 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง