วันนี้ (22 ก.ค.2562) เก่ง ผารัตน์ เกษตรกรตำบลหินกอง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ลงทุนทำนาข้าวหอมมะลิในเขตทุ่งกุลาร้องไห้เกือบ 50 ไร่ ด้วยเงินลงทุนเกือบ 100,000 บาท แต่จากสภาพข้าวบางส่วนเริ่มแห้งเหี่ยว และยืนต้นตาย แม้ว่าศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะขึ้นบินเพื่อโปรยสารเคมีในระยะนี้ แต่ก็ไม่เป็นผล
เราหว่านแห้ง เมื่อฝนตกรินๆ ก็พอให้ข้าวเกิดประมาณต้นเดือน พ.ค.แต่พอมากลางเดือน มิ.ย. ฝนก็ไม่มาเลย จนถึงปัจจุบัน ถ้าเขามาทำฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ก็อาจจะมีเปอร์เซ็นรอดกว่านี้ แต่มาทำช่วงกลางเดือนซึ่งแล้งมากๆ 2 สัปดาห์ก็ตายแล้ว
เกษตรกรตำบลหินกองคนนี้ ระบุว่า ต้นทุนทำนาทั้ง 49 ไร่ ในช่วงต้นฤดูกาล มีค่าใช้จ่ายราวๆ 100,000 บาท แบ่งเป็นค่าไถนา 3 รอบ ไร่ละ 600 บาท รวมเป็นเงินเกือบ 30,000 บาท ค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกไร่ละ 30 กิโลกรัม โดยมีราคากิโลกรัมละ 27 บาท เป็นเงินเกือบ 40,000 บาท และค่าปุ๋ยรองพื้นไร่ละ 1 กระสอบ ซึ่งมีราคากระสอบละ 320 บาท เป็นเงินเกือบ 16,000 บาท
หากไม่เกิดภัยแล้งปีนี้ คาดการณ์ว่าจะได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 20 ตัน ซึ่งจะทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายข้าวหอมมะลิไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท แต่ด้วยสภาพปัจจุบันคงจะได้ผลผลิตไม่ถึงร้อยละ 50
สอดคล้องกับความเห็นของบุญเกิด ภานนท์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัยที่คาดการณ์ว่าผลผลิตที่จะเข้าสู่ตลาดเฉพาะสหกรณ์ฯ เกษตรวิสัย น่าจะหายไปเกือบครึ่ง หรือประมาณ 3-4 หมื่นตันจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ พื้นที่ 2 ล้านไร่ ครอบคลุม 13 อำเภอ 5 จังหวัด ถือเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิชั้นดีของโลก เนื่องจากมีกลิ่นหอม จนทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด แต่จากภาวะภัยแล้งฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งอยู่นอกเขตชลประทานทั้งหมด คาดว่าผลผลิตปีนี้อาจจะลดลงกว่าครึ่ง แต่จะทำให้แนวโน้มราคาข้าวหอมมะลิปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจุบันราคาซื้อขายอยู่ที่ตันละ 15,000บาท