พาดหัวข่าวแบบนี้ "ประชาชนอย่าตกใจยันมีน้ำใช้ถึงแล้งปีหน้า ไม่รุนแรงเหมือนปี 58" เป็นเพราะฝ่ายราชการไม่อยากให้กังวลเกินไป แต่ความแล้งไม่ได้เกิดในหน้าแล้ง แต่ปรากฎแล้งกลางฤดูฝน ย่อมไม่ใช่เรื่องปกติ
ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า ยังไม่มีพื้นที่ประกาศภัยแล้งรุนแรงสิ่งที่กังวลคือการกังวลล่วงหน้า ว่าฝนจะไม่มาตามปริมาณที่ควรจะเป็น
ภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวยังไม่ได้บทสรุปว่ามีความเสียหายหรือไม่ ยังยากที่จะสรุปได้ว่าความเสียหายรุนแรง หากจะชัดเจนต้องรอดูข้อมูลอีกสักสองสัปดาห์ แต่ประเมินเบื้องต้นว่าความเสียหายอยู่ประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท
อีกสำนักหนึ่งคือศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ประเมินภาวะฝนทิ้งช่วงและน้ำน้อยที่เกิดจากอิทธิพลเอลนีโญ อาจทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท หรือ 0.1% ของจีดีพี เพราะกำลังส่งผลต่อความเสียหายต่อพืชเกษตรหลักอย่างข้าวนาปีที่ปลูกแล้ว ราคาข้าวนาปีเฉลี่ยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ขยับขึ้น 6.4 %
แม้ราคาขยับขึ้น...แต่ต้องหันไปถามชาวนาว่ามีข้าวขายหรือไม่

น้ำใช้การได้ในเขื่อนแยกตามรายภาค ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2562 ลดลงทั้งประเทศเกือบครึ่งหนึ่ง โดยเฉพาะในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่ในขั้นวิกฤติ กระทบต่อการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร

ข้าวนาปีคือพืชที่หนักสุด
ข้าวนาปีมีทั้งนาเขตชลประทาน นาภาคกลางภาคเหนือ น้ำน้อยขนาดนี้ หลายพื้นที่จึงถูกงดส่งน้ำเข้านา ส่วนผลผลิตข้าวนาส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ของอีสานส่วนใหญ่ 90% อยู่นอกเขตชลประทาน อาศัยน้ำฝนธรรมชาติเป็นหลัก สาหัสไม่แพ้กัน

ช่วงนี้ตรงกับฤดูเพาะปลูกพอดีกรมอุตุนิยมวิทยา ให้ข้อมูลว่าครึ่งแรกฤดูฝนปีนี้ตั้งแต่ปลายพฤษภาคมถึงตอนนี้ ฝนตกน้อยกว่าปีที่แล้วถึงครึ่งหนึ่ง ทั้งที่เป็นระยะข้าวแตกกอ ต้องปล่อยน้ำเข้านาแต่ไม่มีน้ำพอ
ระยะต่อไปข้าวร้อยวัน ปล่อยน้ำเข้านาอีกช่วงปลายฝน ก็ต้องลุ้นอีกว่าจะมีน้ำหรือไม่ เพราะคาดการณ์ว่าจะมีฝนเพิ่มแต่ตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย นี่คือสิ่งที่กำลังจะกระทบต่อรายได้เกษตรกรกลุ่มใหญ่
น้ำฝนปีนี้คือน้ำต้นทุนเขื่อนและแหล่งน้ำในปีหน้า เพราะฉะนั้นผลกระทบไม่จบแค่ปีนี้ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ คาดการณ์ว่าปีหน้าน้ำจะน้อย บริหารจัดการยาก เป็นไปได้ที่ความรุนแรงอาจพอๆ กับปี 2558
ผลกระทบกำลังจะลากยาว ไม่ใช่เฉพาะข้าวนาปี แต่พืชที่จะได้รับผลกระทบจะมีทั้งข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และอ้อย เกษตรกรให้ยังคงลำบากต่อไปอีก กำลังซื้อครัวเรือนภาคเกษตร การมีงานทำ และภาคธุรกิจ SMEs จะมีปัญหาตามมา

ช่วงเวลาที่ผ่านมาไทยมีปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง สลับกันไปมา ใช้งบประมาณแก้ปัญหาเฉลี่ยปีละ 2 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ ปี 51 จนถึง 61 ใช้เยียวยาและแก้ปัญหา ชดเชย ให้เปล่า จูงใจปลูกพืชน้ำน้อยรวมแล้วเกือบ 1 แสน 6 หมื่นล้านบาท
คาดเดาไม่ยากว่ารอบนี้สิ่งที่จะตามมาคือ มาตรการชดเชย เยียวยา เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบบรรเทาปัญหา มีกำลังซื้อและยังชีพ ต้องใช้งบประมาณแก้กันเป็นรอบๆไป
แม้รัฐจะวางมาตรการระยะยาวแก้ปัญหาภัยแล้งแต่ในด้านการเพาะปลูก ยังไม่เห็นความจริงจัง ที่จะนำพันธุ์พืชที่ทนแล้ง ทนฝนตกหนัก หรือสภาพอากาศแปรปรวน มาส่งเสริมเกษตรกรเพื่อป้องกันความเสียหาย การบูรณาการข้อมูลสภาพอากาศกับพื้นที่การเกษตร การแปรรูปพืชเกษตรครบวงจร เพื่อไม่ต้องกังวลกับการขายผลผลิตนอกฤดู และเป็นการดึงราคาให้ขยับขึ้นโดยไม่ต้องใช้งบประมาณมาอุดหนุน

การแก้ปัญหาภัยแล้งถูกบรรจุในนโยบายที่รัฐบาลจะแถลงต่อรัฐสภา 25-27 นี้ เป็นนโยบายเร่งด่วน ข้อง 11 ที่จะวางการป้องกัน ความช่วยเหลือ และการแก้ปัญหาระยะยาว และพัฒนาปฏิบัติการฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพ
ภาวะภัยแล้งที่กำลังก่อตัวยิ่งทำให้น่าสนใจติดตามว่านโยบายรัฐบาลจะมีรายละเอียดอย่างไร จะมีแนวทางยั่งยืนหรือไม่ หรือ ยังใช้แนวทางแจกเงินแบบเดิมที่ให้แล้วก็หายไป พอแล้งใหม่ ก็แจกใหม่