วานนี้ (30 ก.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กผู้ว่าฯอัศวิน ของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในการประชุมหัวหน้าหน่วยงานกทม.ได้เชิญ น.ส.คีริน เตชะวงษ์ธรรม หรือ “น้องทราย” ผู้พิการทางสายตาที่ใช้สุนัขนำทาง ชื่อ “ลูเตอร์” มาร่วมหารือเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการต่างๆ สำหรับผู้พิการทางสายตาที่ใช้สุนัขนำทาง
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ในเรื่องการให้บริการและจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการทางสายตา รวมถึงผู้พิการทางสายตาที่มีสุนัขนำทางนั้น มีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว เพียงแต่ในประเทศไทย ไม่มีโรงเรียนฝึกสอนสุนัขนำทาง และกรณีน้องทรายกับสุนัขนำทางน่าจะเป็นคนเดียวเราจึงจะไม่ทราบข้อปฏิบัติหรือหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม
เบื้องต้นได้สั่งการให้สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ ไปทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ประจำสวน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ในการให้บริการสวนสาธารณะสำหรับผู้พิการทางสายตาที่ใช้สุนัขนำทาง และให้ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงข้อจำกัดในการใช้สวนสาธารณะสำหรับสุนัขนำทางและสุนัขเลี้ยงด้วยครับ
ภาพ:เฟซบุ๊ก ผู้ว่าฯอัศวิน
โรงพยาบาล-เข้าได้แต่จัดที่พักให้น้องหมา
ส่วนการเข้าถึงบริการในสถานที่ต่างๆ เช่น โรงพยาบาล และสถานพยาบาลต่างๆ เนื่องจากสภาพแวด ล้อมของต่างประเทศและประเทศไทยอาจมีความแตกต่างกัน ที่ประชุมจึงเสนอทางเลือกในการเข้าสถานพยาบาลที่มีความเหมาะสม โดยเมื่อมาถึงสถานพยาบาล จะจัดให้มีสถานที่พักคอยสำหรับสุนัขนำทาง เพื่อที่จะไม่รบกวนผู้ป่วยท่านอื่น และประชาชนไม่เข้าไปรบกวนสมาธิในการทำงานของสุนัขนำทางด้วย
จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมารับช่วงต่อ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้พิการทางสายตาไปยังจุดบริการต่างๆ ซึ่งน้องทรายและครอบครัวเห็นด้วยกับทางเลือกดังกล่าว และจะพิจารณารายละเอียดและกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในสถานที่ราชการของกทม.ต่อไป
สำหรับอุปสรรคสำคัญอีกอย่างในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้พิการทางสายตา ไม่ว่าจะมีสุนัขนำทางหรือไม่ก็ตาม คือ ปัญหาการข้ามถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหารถไม่จอดเมื่อสัญญาณไฟหยุดรถแจ้งเตือน และการขับขี่รถบนทางเท้า ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แก้ยากเหลือเกินครับ ถึงจะมีกฎหมายเอาผิดก็ตาม
ภาพ:เฟซบุ๊ก ผู้ว่าฯอัศวิน
ติดตั้งสัญญาณเตือนทางม้าลายมีเสียง
ส่วนที่ขอให้มีการติดตั้งสัญญาณไฟแบบมีเสียงเพิ่มเติม กทม.ดำเนินการอยู่แล้ว และกำลังทยอยติดตั้งอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ มากที่สุด รวมถึงจะปรับปรุงทางลาดทางเท้าให้เรียบเสมอผิวถนนเพื่อไม่ให้ผู้พิการสะดุดล้มด้วย
ข้อเสนอแนะหลายๆ อย่างต้องขอขอบคุณน้องทรายและครอบครัวอย่างมาก เพราะในอนาคตกทม.อาจจะมีผู้พิการทางสายตาที่ใช้สุนัขนำทาง ทั้งชาวไทยและต่างชาติมากขึ้น เพื่อที่จะได้มีการปรับปรุงการเข้าถึงบริการต่างๆ นอกจากนี้ยังเป็นแนวทางในการฝึกสุนัขนำทางในกรุงเทพมหานครมากขึ้น เพื่อเป็นเสมือนสิ่งอำนวยความสะดวกทางเลือกในการนำผู้พิการทางสายตาไปตามที่ต่างๆ อีกด้วย
ภาพ:เฟซบุ๊ก ผู้ว่าฯอัศวิน