ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จดหมายลาครูถึง “ครูบอย” ผู้คืนน้องสู่ห้องเรียน

สังคม
31 ก.ค. 62
20:11
1,790
Logo Thai PBS
จดหมายลาครูถึง “ครูบอย” ผู้คืนน้องสู่ห้องเรียน
ไทยพีบีเอสออนไลน์ เปิดใจ "ครูบอย"นพรัตน์ เจริญผล ครูที่ไม่เพิกเฉยหลังจากรับจดหมายลาครู ของ "น้องแดง" ด.ช.พงศกร อาสาพิทักษ์ไพร เด็กชาวดอยที่ต้องลาไปช่วยแม่เก็บลำไย เพราะครอบครัวยากจน ท่ามกลางการต่อสู้พาครอบครัวนักเรียนกว่า 180 ชีวิตฝ่าวิกฤตนี้
ไม่เคยคิดว่าเป็นภาระ แต่มันคือหน้าที่ของครู

คำตอบของ นพรัตน์ เจริญผล หรือครูบอย ครูอัตราจ้างวัย 32 ปี จากจังหวัดเชียงราย ที่มาประจำบนพื้น ที่ห่างไกลที่โรงเรียนบ้านนาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เป็นเวลาเกือบ 8 ปี ที่โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรง เรียนขยายโอกาส ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เด็ก 187 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าปะกาเกอะญอ 

เนื่องจากเป็นโรงเรียนบนดอย การเดินทางของนักเรียนไปกลับในแต่ละหย่อมบ้านเป็น 10 กิโลเมตร จึงใช้เวลามากกว่า 2 ชั่วโมง และด้วยหนทางที่ต้องเดินขึ้นเขามา ทำให้โรงเรียนต้องให้เด็กๆ นอนที่โรงเรียน และให้กลับบ้านในช่วงวันหยุด  

ครูบอย เป็นครูดอยที่ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก เขาเป็นหนึ่งในคุณครูอีกหลายคน ที่ช่วยเหลือเด็กคืนสู่ระบบการศึกษา หลังจากน้องแดง ด.ช.พงศกร อาสาพิทักษ์ไพร วัย 13 ปี นำจดหมายลาครู ฝากเพื่อนนักเรียนมาให้ 

นี่เป็นข้อความในจดหมายที่เขียนโดย ด.ช.พงศกร ที่ส่งถึงมือครูบอย

ผมขอโทษที่ไม่ได้ทำตามที่ครูบอก ผมสงสารแม่ที่ต้องทำงานหาเงินอยู่คนเดียว ถ้าผมไปเรียนก็ไม่มีใครช่วยแม่ ผมขออนุญาตลาหยุดไปช่วยแม่เก็บลำไย ผมไม่รู้ว่าจะได้กลับมาเรียนอีกเมื่อไหร่ ขอบคุณคุณครูที่ช่วยเหลือมาตลอด 

 
ครูบอย บอกว่า รู้สึกตกใจ เพราะเด็กไม่ได้เอาจดหมายมาให้ด้วยตัวเอง แต่ฝากเพื่อนมาอีกที พอไปตามหาที่บ้าน แม่บอกว่าน้องแดงไปเก็บลำไย แต่ไม่ยอมบอกว่าไปอยู่ที่ไหน เพราะพ่อแม่เขากลัวว่าจะเอาเด็กกลับมา เพราะน้องไปรับจ้างเก็บลำไยเพื่อหาเงินมาช่วยครอบครัว 

ครูบอย ต้องขี่รถมอเตอร์ไซค์ออกตามหา ข้ามภูเขาที่หนทางยากลำบากกว่า 50 กิโลเมตร เพื่อตามหาลูกศิษย์ของเขากลับเข้ามาเรียน

วินาทีที่เราเจอน้องแดง เขาก็ตกใจที่ตามมาหาจนเจอและถามว่ามาได้อย่างไร

ยอมรับว่าตัวเองก็ตกใจที่มาเห็นภาพที่แดงทำงานที่สวนลำไย ได้พูดคุยกับแดง และพ่อแม่จนยอมให้น้องแดง กลับมาเรียน ตอนนี้แดง ก็ดีใจที่ได้กลับมาเรียน ได้เล่นกับเพื่อน

ภาพ :นพรัตน์ เจริญผล

ภาพ :นพรัตน์ เจริญผล

ภาพ :นพรัตน์ เจริญผล

ความยากจน ต้นเหตุเด็กลาครูไปช่วยหาเงิน

ครูบอย บอกว่า ปัญหาเด็กเขียนจดหมายลาครู มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว เก็บลำไย และผลไม้ ซึ่งพบว่าเด็กโตในระดับชั้นมัธยมศึกษาจะหายไป ปีนี้เริ่มมีแล้ว 10 คน เหตุผลที่นักเรียนต้องยอมเขียนจดหมายลาครู เพราะที่บ้านยากจน ต้องหาเงินช่วยพ่อแม่

เด็กบางคนไปรับจ้างไปทำงาน เก็บลำไย และเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านหมูกระทะ บางครอบครัวพ่อแม่อาจมีรายได้ไม่ถึง 500 บาทต่อเดือน 

ถ้าเด็กหายไป เราจะต้องออกไปตามเยี่ยมบ้านดูว่ามีปัญหาอะไร ซึ่งบางครอบครัวมีฐานะยากจนและอยากให้เด็กๆ ช่วยทำงานหาเงินจุนเจือครอบครัว และช่วงนี้เริ่มหายไปเยอะ บางทีก็ลา บางทีก็ไม่มีจดหมาย ส่วนมากเป็นเด็กผู้ชาย ซึ่งหากหายไป 10 คน ส่วนใหญ่ได้กลับคืนมาเรียน 3 คน

ภาพ :นพรัตน์ เจริญผล

ภาพ :นพรัตน์ เจริญผล

ภาพ :นพรัตน์ เจริญผล

 

ความตั้งใจของครูคือตามให้กลับมาเรียนทุกคน เพราะเอาเด็กออกจากระบบไม่ได้เลย และต้องมีแรงจูงใจ เช่น หาเงินกองทุนมาช่วยสนับสนุน และโน้มน้าวให้พ่อแม่เข้าใจว่าถ้าเด็กเรียนจบ ม.3 ก็ยังมีวุฒิการศึกษาไปหาเรียนต่อในเมือง และหางานทำได้ รวมทั้งสัญญาว่าจะพาไปเที่ยวทะเลเป็นแบบนี้รุ่นต่อรุ่น เพื่อให้เด็กกลับมาเรียน  

ผมจะคุยกับพ่อแม่เขาว่าทำไมต้องส่งลูกเรียน จบแล้วดีอย่างไร ทำอะไร ที่โรงเรียนนี้แม้ยังไม่มีใครจบปริญญาตรี แค่ ม.3 ก็จำเป็นที่ต้องให้เด็กกลุ่มนี้เรียนหนังสือ เสียดายโอกาสเด็กๆ บางคนก็เรียนเก่งแต่ไม่มีเงินต้องยอมทิ้งการเรียนไปทำงานในเมือง

ดูแลนักเรียนเหมือนครอบครัวเดียวกัน

เมื่อถามครูว่าทำแบบนี้ เป็นภารกิจที่หนักอึ้งหรือไม่ ครูบอย บอกว่า เป็นหน้าที่ของเรา ครูทุกคนต้องตามเด็ก ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย ถ้าเขาหายไปก็ต้องไปตามถึงที่บ้าน บางทีก็มีปัญหายาเสพติดบ้าง และความยากจนเป็นเรื่องหลักที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา 

ครูบอย บอกว่า ขณะนี้รัฐจัดสรรงบมาให้ช่วยเหลือเด็กๆ เช่น เงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันต่อหัวละ 20 บาท ถ้าขึ้นมาบนดอยค่าขนส่งอีก ก็แทบจะไม่เพียงพอแล้ว ดังนั้นที่โรงเรียนจึงทำโครงการเพื่อให้เด็กๆมีอาหารกิน ทั้งการปลูกข้าว ปลูกผักตามฤดูกาล รวมทั้งเลี้ยงปลาดุก ผักที่มีเพียงพอจะให้เด็กนำไปฝากพ่อแม่ในวันหยุด ส่วนปลาถ้ามีมากก็จะขายนำเงินหมุนเวียนมาซื้ออาหารปลา 

ตอนนี้มีแปลงผัก จะให้เด็กๆ เอากลับไปให้ที่บ้านและแบ่งกัน ส่วนปลาไว้ทำอาหารกลางวัน ถ้ามีมากพอก็จะขายให้ชาวบ้านเป็นค่าอาหารปลา เลี้ยงไก่ เก็บไข่ไก่ โรงเพาะเห็ด  ทำทุกอย่าง เลิกเรียนก็ทำอาหาร โดยครูดูแลเด็กเหมือนครอบครัวเดียวกัน
ภาพ:นพรัตน์ เจริญผล

ภาพ:นพรัตน์ เจริญผล

ภาพ:นพรัตน์ เจริญผล

 

ครูบอย บอกถึงกรณีที่มีการทำกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กศศ.) ที่จะเข้ามาช่วยเหลือการเรียนการสอนให้กับเด็กๆ โดยเพิ่มค่าใช้จ่ายการเรียนขึ้นมาอีกเดือนละ 3,000 บาท จากเดิม 600-800 บาท ซึ่งน่าจะทำให้เด็กได้มีกำลังใจเพราะมีทุน พ่อแม่จะได้มีแรงส่ง

ถึงจะไม่ใช่เงินที่เยอะ แต่เด็กๆ เขาประหยัดทุกบาท มีค่ามาก 

ครูบอย ย้ำว่า ในฐานะครู เด็กทุกคนคือลูก ไม่ใช่แค่ลูกศิษย์ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแม้จะแก้ไม่ได้ทั้งหมด แต่จุดเริ่มต้นของทางออก คือการที่ครูจะใส่ใจกับจดหมายลาครูของเด็กๆ 

เด็กไทย 2 ล้านเสี่ยงหลุดระบบการศึกษา 

นพ.สุภกร บัวสาย ผจก.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ครูบางคนสังเกตว่ามีลูกศิษย์หายหน้าไป และเราเห็นว่ามีลูกศิษย์บางคนเขียนจดหมายถึงครู ไม่ขอเรียนต่อ และขอหยุดชั่วคราวเป็นความจำเป็นที่ต้องเลี้ยงน้อง เลี้ยงยาย หรือคนในครอบครัวที่พิการ และหารายได้ บางครั้งครูหลายท่านเข้าใจสภาพปัญหา

ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พบว่าปัจจุบันมีเด็กไทย มากกว่า 430,000 คน ที่หลุดอยู่นอกระบบการศึกษาภาคบังคับ และมีเด็กยากจน ที่เสี่ยงไม่ได้ศึกษาต่อ ราวๆ 2 ล้านคนทั่วประเทศ

ขณะนี้ 4 หน่วยงานภาคี คือ สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ยืนยันว่าจะร่วมมือกันในการแก้ปัญหานี้ ผ่านโครงการเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนพิเศษ โดยใช้ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ ISEE ของกองทุนฯ มาเป็นเครื่องมือติดตาม ค้นหาและช่วยเหลือเด็กๆ ให้ถูกจุดถูกคน ตรงความจำเป็น

 

โดยเชื่อว่า คุณครูที่อยู่ใกล้ชิดกับปัญหากว่า 400,000 คน จะช่วยกันค้นหา และคัดกรองให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ซึ่งแนวทางนี้ ทำให้ปีการศึกษาที่ผ่านมา มีเด็กยากจนพิเศษกว่า 500,000 คน ได้รับทุนไปแล้ว

ก่อนหน้านี้จดหมายลาครูของเด็กๆ จากทั่วประเทศ ถูกส่งผ่านออกมาในรูปแบบกราฟฟิตี้ ที่จัดแสดงในสวนเฉลิมหล้า สะพานหัวช้าง กรุงเทพฯ เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการมีชีวิต จากเครือข่ายศิลปินกราฟฟิตี้เพื่อสังคม ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของเด็กๆ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ที่เขียนจดหมายลาครูไปช่วยดูแลพี่น้อง หรือแบ่งเบาภาระครอบครัว

ซึ่งพวกเขาตั้งใจใช้งานศิลปะสะท้อนปัญหาให้คนไทยเข้าใจ และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยสร้างผลงานศิลปะ 7 แห่งในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถอดรหัส "จดหมายลาครู" เรื่องจริงยิ่งกว่าละคร

Street ART สร้างศิลปะ เป็นกระบอกเสียงให้เด็กยากจน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง