วันนี้ (5 ส.ค.2562) นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือวาฬหัวทุยแคระ 2 ตัว เกยตื้นชายหาดบ้านในไร่ อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ซึ่งตัวแม่ตายเมื่อวานนี้ (4 ส.ค.) ที่ชายหาด ก่อนที่ทีม ทช. จะไปถึง เนื่องจากป่วยติดเชื้อมาระยะหนึ่งแล้ว ร่างกายอ่อนแอ ประกอบกับเป็นช่วงมรสุมที่คลื่นลมแรง ทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกับฝูงได้ และแยกออกมาอยู่ใกล้ฝั่ง
ขณะที่ลูกวาฬหัวทุยแคระ ถูกส่งตัวมาอยู่ที่โรงพยาบาลสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน แหลมพันวา จ.ภูเก็ต เบื้องต้นคาดว่าอายุ 1 เดือน สภาพร่างกายมีบาดแผล ขณะนี้อาการคงที่และสามารถว่ายน้ำเองได้ โดยทีมสัตวแพทย์ปรับแนวทางการดูแลพะยูนมาเรียมมาใช้ แต่สูตรของนมและอาหารจะแตกต่างกัน เนื่องจากลูกวาฬหัวทุยแคระจะกินสัตว์ทะเลอย่างหมึกเป็นอาหารหลัก
ดูแลลูกวาฬใกล้ชิด ป้องกันภาวะเครียด
นายก้องเกียรติ คาดว่าลูกวาฬตัวดังกล่าวติดเชื้อบางส่วนจากแม่ ขณะนี้ได้เจาะเลือดไปตรวจวินิจฉัยเพื่อตรวจสอบว่ามีการติดเชื้อในกระแสเลือดหรือไม่ อวัยวะภายในมีความผิดปกติหรือไม่ รวมทั้งการเอกซเรย์การอักเสบตามร่างกาย เบื้องต้นพบว่าลมหายใจไม่มีกลิ่นที่บ่งชี้ว่าติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ส่วนระบบทางเดินอาหาร พบพยาธิจำนวนมาก ซึ่งต้องกักกันโรคและพยายามเสริมสารน้ำเข้าไปในร่าง เนื่องจากสัตว์อดมาหลายวัน มีภาวะขาดน้ำในเลือดและระบบร่างกาย จากนั้นจะเสริมในเรื่องของพลังงาน
ภาพ : Kongkiat Kittiwatanawong
นอกจากนี้ ทีมสัตวแพทย์ได้ให้ยาฆ่าเชื้อ เพื่อให้อาการคงที่ จากนั้นจะพิจารณาแผนการฟื้นฟูต่อไป ขณะที่ทีมพี่เลี้ยงได้ดูแลเกี่ยวกับพฤติกรรมการปรับตัวในสภาพบ่อ ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เกิดความเครียด เพราะสภาพจิตใจเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยปกติจะลูกวาฬจะอาศัยอยู่กับแม่ เช่นเดียวกับพะยูน
ทั้งนี้ ทีมสัตว์แพทย์ได้แบ่งเป็น 2 ชุด เพื่อดูแลพะยูนยามีล และลูกวาฬหัวทุยแคระ ป้องกันการติดเชื้อผ่านคน
ลูกวาฬปกติต้องอยู่กับแม่ตลอดเวลา หากแม่ตายจะมีโอกาสรอดน้อยมาก ขณะนี้ทีมสัตวแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังเรื่องของการติดเชื้อต่าง ๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ช่วย 2 วาฬหัวทุยแคระ เกยตื้นหาดบ้านในไร่ จ.พังงา